เมื่อวันที่ 7 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวรณรงค์เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มี.ค. โดยนพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีคนไทยมีแนวโน้มป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุใหญ่ที่สุดร้อยละ 60 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง 2 โรคนี้มีคนป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ที่เหลือเกิดจากโรคนิ่วในไต ติดเชื้อที่ไต และเกิดจากการกินยาแก้ปวดติดต่อกันนานๆ และพบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี
นพ.อนุตตรกล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตร้อยละ 17.5 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ประมาณ 40,000 ราย ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่หรือที่วงการแพทย์เรียกว่าปลูกถ่ายไต ขั้นตอนการรักษายุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และยังมีข้อจำกัดหลักคือขาดแคลนผู้บริจาคไต จึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง ปี 2555 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียง 400 รายเท่านั้น
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ชูรสได้ปรับจากรูปแบบเดิมที่เป็นเกล็ด ใส ที่เรียกว่าผงชูรส มาเป็นผงแป้งปรุงรสหรือซุปก้อน ซึ่งปริมาณโซเดียมในผงปรุงรสเหล่านี้สูงกว่าผงชูรสถึง 2-3 เท่าตัว เทียบในปริมาณ 1 ช้อนชา ผงชูรสมีโซเดียม 492 มิลลิกรัม ผงแป้งปรุงรสมี 815 มิลลิกรัม และซุปก้อนขนาด 10 กรัมมีโซเดียม 1,760 มิลลิกรัม ส่วนน้ำปลามี 400-500 มิลลิกรัม
"จึงขอให้ผู้ปรุงอาหารลดปริมาณเกลือ ผงชูรส เครื่องปรุงรสต่างๆ ลง และลดการบริโภคเบเกอรี่ ขนมปัง ขนมเค้ก ซึ่งจะมีผงฟูเป็นส่วนผสม รวมทั้งอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง และขนมกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีสารกันบูด ผงปรุงรสผสมอยู่ จึงมีสารโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน" ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดสธ. กล่าวว่า ไทยจะจัด "สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง" ที่โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดภาครัฐพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 11-17 มี.ค. เน้นให้ลดกินเค็มลงครึ่งหนึ่ง ลดการเติมเครื่องปรุงรสเค็มในอาหารให้น้อยลงกว่าที่เคยใช้ให้ได้ร้อยละ 50
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 8 มีนาคม 2556
- 66 views