นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข พ.ศ....ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่มีผู้เสนอจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล,ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่างพ.ร.บ.ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และร่างพ.ร.บ.ฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 วันที่ 6 มีนาคมนี้
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ในส่วนของร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลมีการเสนอแก้ไขใน 18 มาตรา โดยมีมาตราหลักได้แก่ 1.การขยายการคุ้มครองของระบบประกันสังคมไปสู่ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการซึ่งไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวันจะต้องได้รับความคุ้มครอง 2.การขยายนิยามคำว่าทุพพลภาพโดยผู้ประกันตน ซึ่งสูญเสียอวัยวะถึงขั้นทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนโดยไม่ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง 3.กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติสามรถลดหรืองดการเก็บเงินจาการค้างจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ซึ่งกฎหมายกำหนดค่าปรับไว้ที่ร้อยละ 2 ของยอดเงินค้างชำระแต่ละเดือน
4.กรณีขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม โดยลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างเลยในช่วงหยุดงานจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากนายจ้างประสบปัญหาทางการเงิน หรือภาวะขาดทุนจนไม่สามารถจ่ายเงินค่าจ้างได้เลย กองทุนประกันสังคมก็จะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยจะพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของนายจ้าง รวมทั้งพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป 5.การกำหนดให้ผู้ประกันตน ซึ่งไม่มีทายาท คู่สมรส หรือญาติรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จชราภาพแทน เมื่อเสียชีวิตสามารถทำหนังสือให้ผู้ใดก็ได้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์นี้แทน หากไม่มีการทำหนังสือไว้ก็ให้เป็นมรดกแก่ทายาท 6.ขยายการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนทุกกรณีจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และ 7.การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views