การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต่อวันทั่วประเทศในต้นปี 2556 นี้แม้ว่าเป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ และดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่ง เพราะทำให้ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลดลง อย่างไรก็ดี การที่ตลาดแรงงานของไทยเป็นตลาดที่เน้นใช้แรงงานราคาถูก ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน จึงต้องพยายามรักษาขีดความสามารถของการแข่งขันของสินค้าไทย เน้นการลดต้นทุนการผลิตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและ มีนโยบายผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ผู้ประกอบการจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับกลไกการผลิต
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศนโยบายเชิงรุก โดยเน้นการ บูรณาการของทุกภาคส่วน พร้อมความช่วยเหลือทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาด้านแรงงานเชิงบูรณาการของจังหวัด โดยวิเคราะห์สถานการณ์ สภาพแวดล้อมและความต้องการในพื้นที่ ซึ่งสามารถสรุปเป็น 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 7 เป้าประสงค์ และ 19 กลยุทธ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ใช้แรงงงาน รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลด้านแรงงานอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการว่างงาน คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงงาน และมีหลักประกันที่มั่นคง ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. คุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานและส่งเสริมสนับสนุนสถานประกอบการให้ได้รับมาตรฐานด้านแรงงาน 2. ส่งเสริมและพัฒนากำลังแรงงานให้มีงานทำและมีรายได้ 3. พัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเวทีโลก 4. ส่งเสริมให้ผู้อยู่ในวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และ 5. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านแรงงานในพื้นที่ และบริหารจัดการข้อมูลแรงงานรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์จะ มีเป้าประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันต่อ การเปลี่ยนแปลงทั้งในประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน และเวทีโลก โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ผู้ว่างงาน แรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ แรงงานนอกระบบ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือที่หลากหลายที่ได้มาตรฐานและรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ อาทิ พัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือและทักษะด้านภาษาเพิ่มขึ้น
จากการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นมานั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น คือการขาดเงินทุน สภาพคล่องทางการเงินและขาดแรงงานมีฝีมือที่สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างใหม่ ด้วยเหตุนี้ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาขาดเงินทุนและขาดแรงงานมีฝีมือโดยผู้ประกอบ SMEs ทุกรายที่ประสบปัญหาสามารถมาขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ที่ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแนะนำทางออกผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้นักธุรกิจ SMEs ทั้งหลายมาใช้บริการ ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้ตั้งแต่วันนี้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศหรือโทรฯมาสอบถามสายด่วน 1506 กระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
นายธีรพล ขุนเมือง แรงงานจังหวัดนครปฐม กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ประกอบการ จังหวัดนครปฐมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ยกระดับผลิตภาพด้านแรงงาน โดยอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะต่าง ๆ อาทิ เทคนิคการเป็นหัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพ เทคนิคการสอนงาน ช่างฝีมือ รวมถึง 5 ส. เพื่อการเพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต พัฒนาขบวนการทำงาน ขยายปรับปรุงและพัฒนากิจการวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยในปี 2555 ได้อนุมัติไปแล้ว 27 ราย รวมเป็นเงิน 79.1 ล้านบาท ปี 2556 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและขอกู้รวม 21 ราย อนุมัติจ่ายไปแล้ว 64.7 ล้านบาท โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SME เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เสริมสภาพคล่อง และเพิ่มผลผลิตด้านแรงงาน ในปี 2555 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 20 ราย วงเงิน 28.7 ล้านบาท ในปี 2556 อนุมัติไปแล้ว 23 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างคำนวณวงเงินเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละสถานประกอบการ
แรงงานจังหวัดนครปฐม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. เวลา 13.00 น. จะมีการลงนามความร่วมมือกับท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม เพื่อจัดตั้งมุมแรงงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน ตำแหน่งงานว่าง การสมัครงาน รวมถึงการฝึกอาชีพ และความคุ้มครองตามมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระ อาทิ ค้าขาย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เสริมสวย รับจ้างทั่วไป และอีกมากมาย หรือจะสอบถาม เพิ่มเติมโทร. 0-3434-0067-69 ทุกวันเวลาราชการ.
- 1 view