ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการขยายอายุการทำงานของผู้ประกันตน กับประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก คือ ผลกระทบกับหลักประกันรายได้ และความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากต้องแบกรับภาระการจ่ายเงินชดเชยในระยะยาว โดยหวั่นว่า ปี 2588 กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพจะล้มละลาย เหตุระยะเวลาจ่ายเงินสมทบที่ไม่สอดคล้องกับอัตราการจ่ายเงินชดเชยผู้ประกันตน
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รองเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ให้เหตุผลว่า จากแนวโน้มการเคลื่อนย้ายทางประชากรศาสตร์ ของประเทศไทยกลายไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้แนวโน้มการเกษียณอายุของแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพได้ เนื่องจากจำนวนเงินที่แรงงานผู้ประกันตน จ่ายสมทบเข้ากองทุนค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการจ่ายเงินชดเชยจะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่เรียกเก็บ ทำให้ในอนาคตหลังจากที่มีการจ่ายเงินชดเชยผู้ประกันตน ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป อาจจะทำให้กองทุนประกันสังคม เกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องได้ในอนาคต
พญ.ลัดดา บอกอีกว่า ด้วยมูลเหตุและสถานการณ์ในปัจจุบัน ทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จึงได้พยายามผลักดันข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณ โดยเฉพาะประเด็นการขยายระยะเวลา ในการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในให้มากขึ้น เพื่อให้กองทุนยังคงเสถียรภาพ ผ่านการผลักดันการขยายอายุการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรศาสตร์
สอดคล้องกับผลการศึกษาของ นายเฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่าปัจจุบันแรงงานไทยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีอยู่มากถึง 1 ใน 4 ของจำนวนแรงงานในระบบทั้งหมด ดังนั้นหากการกำหนดอายุเกษียณในประเทศไทย ยังเป็นช่วงอายุ 55 ปีในภาคเอกชน และ 60 ปีในภาครัฐบาล จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาถึงประเด็นการขยายอายุทำงาน พร้อมกับการเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมผู้ชราภาพให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ของแรงงานผู้ประกันตนภายหลังจากเกษียณอายุทำงาน
นายเฉลิมพล อธิบายว่าปัจจุบันการเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ยังอ้างอิงตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่าผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีบริบูรณ์ และได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน โดยสามารถขอรับเงินชดเชยได้ เท่ากับร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ยเดือนสุดท้าย และผลประโยชน์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ถ้าผู้ประกันตนสมทบเงินเพิ่มอีก 12 เดือน หลังจากครบ 180 เดือน หากหลักการจ่ายเงินยังคงเป็นแบบนี้ อนาคตจะกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพได้ เนื่องจากอัตราการจ่ายเงินชดเชย ไม่สอดคล้องกับอัตราที่เรียกเก็บเงินสมทบ
"ขณะนี้ประเทศไทย ยังอ้างอิงการเก็บเงินสมทบตามอายุเกษียณ 50 ปี และ 60 ปี จึงทำให้ระยะเวลาในการเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ไม่เพียงพอกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนให้ผู้ประกันตน ซึ่งหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในจุดนี้ อนาคตช่วงปีงบประมาณ 2588 อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนได้"
นายเฉลิมพล บอกอีกว่า เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับความเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม ทางคณะทำงานจึงเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรพิจารณาขยายอายุการเกิดสิทธิ กรณีชราภาพ โดยเฉพาะการเกษียณในภาคเอกชนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อเป็นการขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุน ตามระยะเวลาการขยายอายุการเกิดสิทธิ ขณะเดียวกันทางฝั่งนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ นายอลงกต วรกี สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง บอกว่าจากการศึกษาระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายอายุการทำงานไปจนถึงอายุ 66 ปี เนื่องจากประชาชนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และอัตราการเกิดต่ำลง พบว่ากลุ่มแรงงานสูงอายุเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเชื่อมโยงกับการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ประเทศไทยควรนำมาปรับใช้ โดยการปรับเปลี่ยนการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุน ให้สอดคล้องกับการขยายอายุการทำงาน
"เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคม ภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนการขยายระยะเวลา ในแง่การจ่ายเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมมีการกำหนดว่าจ่ายครบ 180 เดือน หรือ จ่ายครบ 15 ปี ผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิรับเงินบำนาญ แต่หากเป็นเช่นนี้ เงินบำนาญที่ได้รับจะไม่มาก ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย" นายอลงกต กล่าว
สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการขยายอายุเกษียณนั้น นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า จากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันทีดีอาร์ไอ เรื่องการขยายอายุเกิดสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ของแรงงานในประเทศไทย จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2551 พบว่า ประเด็นการขยายอายุการทำงาน ควรจะเริ่มที่สถานประกอบการขนาดใหญ่ก่อน เนื่องจากมีความมั่นคงทางรายได้ ค่าล่วงเวลา และโบนัส และมีอัตราการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายลูกจ้างที่มีเงินออมไม่เพียงพอ มีรายได้ไม่สูง และไม่ได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ภาครัฐควรต้องปรับแก้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2553 เพื่อขยายอายุเกิดสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี เช่นเดียวกับประเทศที่อายุประชากรยืนยาว ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการจูงใจผู้ประกันตน ที่อายุ 55 ปีเป็นต้นไป และยังคงทำงานอยู่ ให้ยังจ่ายเงินสมทบต่อไป ด้วยวิธีการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษ หรือควรได้รับการอุดหนุนค่าจ้างให้แก่สถานประกอบการที่จ้างแรงงานสูงอายุต่อไป
ขณะที่ นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงานในฐานะโฆษก สปส. บอกว่า สปส.ไม่มีอำนาจในการไปกำหนดเรื่องการขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะทำความตกลงกันเองว่าจะเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุเท่าใด ต่างจากภาคราชการที่กำหนดไว้ชัดเจนให้อยู่ที่อายุ 60 ปี
"การที่สปส.กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนเกิดสิทธิรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ก็เพราะเห็นว่าเป็นช่วงวัยที่ลูกจ้างทำงานมานานเพียงพอแล้วโดยเฉพาะลูกจ้างผู้หญิงและนายจ้างส่วนมากเลือกที่จะเปลี่ยนลูกจ้างรุ่นใหม่เข้ามาแทนลูกจ้างรุ่นเก่าในช่วงอายุ 55 ปี
อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างอายุ 55 ปีบริบูรณ์และนายจ้างยังต้องการจ้างงานต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี ลูกจ้างก็มีสิทธิยังไม่ขอรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและสามารถส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมได้ต่อไปเรื่อยๆ จนอายุ 60 ปีและขอรับสิทธิกรณีเงินชราภาพเมื่อเกษียณจากการทำงานได้" นายอารักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สปส. ได้ประมาณการไว้ว่าในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ จะมีผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 33 อายุครบ 55 ปีที่รับเงินบำนาญชราภาพ 5,000 คน รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท และรับเงินบำเหน็จชราภาพประมาณ 120,000 คน เป็นเงิน 8,000 ล้านบาท รวมแล้วจ่ายเงินกว่า 8,090 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556
- 37 views