เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุและลูกจ้างเสนอให้มีการขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ว่า สปส.ไม่มีอำนาจกำหนดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะทำความตกลงกันเองว่าจะเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุเท่าใดต่างจากภาคราชการที่กำหนดไว้ชัดเจนให้อยู่ที่อายุ 60 ปี ทั้งนี้ เหตุที่ สปส.กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ เพราะเห็นว่าเป็นช่วงวัยที่ลูกจ้างทำงานมานานเพียงพอแล้ว และนายจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะเปลี่ยนลูกจ้างรุ่นใหม่เข้ามาแทนลูกจ้างรุ่นเก่าในช่วงอายุ 55 ปี
นายอารักษ์กล่าวว่า ส่วนเกณฑ์การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันมาตรา 39 และมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1.เงินบำเหน็จชราภาพให้เป็นเงินก้อนเดียวแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี และ 2.เงินบำนาญชราภาพให้เป็นเงินรายเดือนแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 15 ปี และออกจากงาน โดยปัจจุบันในการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 5 จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ใช้ดูแลสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต 2.ใช้จ่ายสิทธิประโยชน์การว่างงาน และ 3.ในส่วนของเงินชราภาพที่จะนำมาจัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 และผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินออมเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ซึ่งคำนวณจากระยะเวลาในการนำส่ง หากส่งไม่ครบ 15 ปี จะได้ในลักษณะของเงินบำเหน็จชราภาพ
"โดยในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ สปส.ได้ประมาณการไว้ว่า จะมีผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 33 อายุครบ 55 ปีที่รับเงินบำนาญชราภาพ 5,000 คน รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท และรับเงินบำเหน็จชราภาพประมาณ 120,000 คน เป็นเงิน 8,000 ล้านบาท รวมแล้วจ่ายเงินกว่า 8,090 ล้านบาท" นายอารักษ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556
- 6 views