“รองปลัดแรงงาน” ระบุ สิทธิ ‘แรงงานข้ามชาติควรมองในมิติความมั่นคง’ การให้สิทธิตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎหมายและสัญญาจ้างที่ชัดเจน ไม่ละเลยในความเป็นมนุษย์ ย้ำ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่สำคัญ
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน บรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวทางและความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ” ในการสัมมนาเรื่อง สิทธิการรวมตัวต่อรองของแรงงานข้ามชาติ : บทเรียนรู้สู่อนาคต? ว่า สำหรับแนวทางและความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยต้องไปดูว่าจะเกี่ยวข้องกับการรวมตัวได้อย่างไร การได้รับ ‘สิทธิแรงงาน’ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นแรงงานในชาติหรือแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องดูคือ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้การคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะสิทธิการมีงานทำและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหลักประกันด้านสุขภาพ และการเข้าถึงกฎหมาย โดยยึดตามกฎหมายของไทย
ทั้งนี้ สิทธิเป็นเรื่องของอำนาจและประโยชน์ของบุคคลที่ได้รับตามกฎหมาย ซึ่งแนวทางความร่วมมือจะต้องพิจารณาจากนโยบายของภาครัฐว่าเอื้ออำนวยให้หรือไม่
ปัจจุบันประเทศไทยให้สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองและจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น ส่วนแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้ให้สิทธิเหล่านี้เพราะต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสียให้รอบคอบโดยคำนึงถึงมิติด้านความมั่นคงของประเทศและผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยเป็นหลัก หากให้สิทธิไปแล้ว มีข้อเรียกร้องเกินขอบเขตอาจเกิดปัญหาขึ้นได้โดยเฉพาะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องในมิติของความมั่นคงที่ต้องดูแลและควบคุมให้ได้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ไม่ละเลยในความเป็นแรงงาน ความมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติที่ยังต้องให้การดูแลคุ้มครองอยู่ เพราะการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับแรงงานข้ามชาติยังถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า การเจราจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติ ต้องดูว่าปัจจุบันแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันประเทศไทยให้การดูแลแรงงานที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายเทียบเท่ากับแรงงานไทยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งสิทธิต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติต้องคำนึงถึงข้อกำหนดของการมาทำงานของแรงงานด้วย ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ดีตั้งแต่กระบวนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับความคุ้มครองดูแลตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดทั้งในเรื่องของสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างและชั่วโมงการทำงาน เห็นว่าการให้สิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงานแก่แรงงานข้ามชาติจะมีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติก็ทำงานอยู่ในไทยเพียงชั่วคราวเท่านั้น
สำหรับแนวทางการปฏิบัติควรทำให้ถูกกฎหมาย ปัจจุบันเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาวยังคงมีความไม่ชัดเจน แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งกลไกลต่างๆ ที่นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ น่าจะมีประเด็นต่างๆ อาทิ ควรทำอย่างไรกันบ้างเพื่อทำให้แรงงานข้ามชาตินั้นมีสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ตามขอบเขตที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดและเคารพต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานขอให้รัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองนั้นเป็นเรื่องที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเสนอให้ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงานรับทราบทั้งข้อเรียกร้องและผลการศึกษาข้อดีข้อเสียที่เคยศึกษาไว้เพื่อการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
- 10 views