เป็นประเด็นร้อนและยืดเยื้อมานานสำหรับการยกเลิกขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน, เมโทมิล, อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551 ที่ได้กำหนดให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรประมาณ 27,000 รายการต้องขึ้นทะเบียนใหม่ และสารเคมีทุกชนิดจะมีอายุ 6 ปี หลังการขึ้นทะเบียน
ขณะนี้สารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ยังสามารถวางขายตามตลาดได้ แต่ไม่สามารถนำเข้าเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการอนุโลมของกรมวิชาการเกษตรที่อนุโลมให้สินค้าที่นำเข้าก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554 สามารถวางจำหน่ายได้อีก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2556
การดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสารเคมี กว่า 10,000 ชนิด ดำเนินการควบคู่ไปกับการยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียน สารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรงต่อร่างกาย โดยมีคาร์โบฟูราน, เมโทมิล, อีพีเอ็น และ ไดโครโตฟอส เป็นเป้าหลัก ทั้งฝ่ายขอ ขึ้นทะเบียนและฝ่ายคัดค้านการขึ้นทะเบียนต่างหาข้อมูลเหตุผลสนับสนุนทุกทางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่นาน กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น เหตุผลหนึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการทำงานตามระบบราชการต้องเป็นไปตามกระบวนการซึ่งล่าช้ามาก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนนำไปโจมตีว่า "บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนัก จ่ายเยอะ...ซื้อเวลาได้นาน"
จากอธิบดีคนเก่าที่เกษียณอายุไปในปลายเดือนกันยายน 2555 ส่งไม้ต่อมาที่ นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยท่าทีขึงขัง ให้ความหวังว่าเรื่องน่าจะดำเนินไปเร็วกว่าเดิม โดยการให้ข่าวว่าจะจัด ประชาพิจารณ์ในเร็ว ๆ นี้ จนเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และตอบคำถามว่า "ตั้งใจจะจัดในเดือนธันวาคม 2555 แต่ติดปัญหาบางอย่างจึงต้องเลื่อนไปหลังปีใหม่ 2556"
ผ่านปีใหม่มาเดือนกว่ายังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใด ๆ ออกมา จนกระทั่งเหตุเกิดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด พร้อมกับให้เหตุผลว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีจำนวนมาก และตรวจพบสารตกค้างในเลือดของเกษตรกรและผู้บริโภคจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งได้ทวงถามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า "เมื่อไหร่เรื่องจะถึงบทสรุป จะต้องให้ประชาชนล้มตายไปอีกเท่าใดจึงจะเลิกใช้"
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบกระทรวงสาธารณสุขไปว่า เห็นด้วยที่ว่าสารเคมีเป็นพิษต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ควรจะยกเลิกให้เร็วที่สุด แต่ติดที่ว่าการจะยกเลิกต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้อยู่คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551 ซึ่งกระบวนการหนึ่งที่สำคัญคือการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลังจาก นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯจึงได้สั่งการไปยังกรมวิชาการเกษตรให้เร่งดำเนินการ
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ เปิดเผยว่า การพิจารณาว่าจะอนุญาตขึ้นทะเบียนหรือยกเลิกการใช้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมวิชาการเกษตร แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ความคืบหน้า ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำหนังสือยื่นไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงประเด็นที่ว่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นได้หรือไม่ เพื่อพิจารณายกเลิกใช้สารเคมี 4 ชนิดได้โดยเร็ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมา แต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาแต่อย่างใด กรมจึงจะทำประชาพิจารณ์ตามกระบวนการเดิมที่วางแผนไว้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556
ดังนั้นต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดว่า ผลการประชาพิจารณ์ใน วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้จะออกมาเป็นอย่างไร และฝ่ายคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุปแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 20 ก.พ. 2556
- 15 views