ปี 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกปีหนึ่งที่วงการสาธารณสุขได้มีความเคลื่อนไหว และมีหลากหลายประเด็นที่ตกเป็นกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในการติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพของประเทศ สำนักข่าว HFocus ได้สรุป 10 ข่าวเด่นสาธารณสุขในรอบปี 2562 เพื่อเป็นการย้อนทบทวนเหตุการณ์ข่าวในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ดังนี้
1.ยกเลิกอัตราข้าราชการตั้งใหม่ บรรจุ แพทย์ ทันตแพทย์-ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
กลายเป็นข่าวที่สร้างกระแสอย่างมากในแวดวงสาธารณสุข จากประกาศสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 เรื่อง ยกเลิกจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ปี พ.ศ.2564 เป็นปีสุดท้าย ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยทาง ก.พ.ออกมาระบุว่า ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอผลการวิเคราะห์อัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ อ.ก.พ. สธ. มีมติเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันอัตรากำลังข้าราชการตําแหน่งนายแพทย์มี 19,504 อัตรา และทันตแพทย์มี 5,493 อัตราหากเพิ่มตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์ปีละประมาณ 1,880 อัตรา ที่เป็นอัตราการเพิ่มตามปกติในทุกปี เมื่อถึงปี 2564 อัตรากำลังตำแหน่งนายแพทย์จะมี 23,692 อัตรา และทันตแพทย์ 6,423 อัตรา แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ สธ.ใช้อัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการรองรับบรรจุนักศึกษาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ให้เพียงพอได้
ประกาศดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม 24,562 คน ภายในปี 2570 ที่ใช้งบประมาณกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท และการคงแพทย์ให้อยู่ในระบบ กระทบต่อการดูแลประชาชน
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติได้ชี้แจงที่ช่วยสร้างความกระจ่างต่อสังคม โดยปี 2564 ที่ระบุว่าเป็นปีสุดท้ายของการบรรจุตำแหน่งแพทย์และทันตแพทย์ เป็นปีสิ้นสุดการบรรจุตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการขอตำแหน่งในโครงการดังกล่าวอีกหลังปี 2564 แต่ไม่ใช่จะไม่บรรจุตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่ให้กับแพทย์และทันตแพทย์ที่จบใหม่อีกต่อไปตามที่มีการตีความและเข้าใจไม่ถูกต้อง ประเด็นนี้ยังได้รับการยืนยันจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ตอบกระทู้เรื่องนี้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการยกเลิกบรรจุแพทย์ แต่เป็นการพิจารณาในกรอบเวลา 4 ปี ซึ่งการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขยังต้องพิจารณาตามภารกิจความจำเป็น โดย สธ.มีหน้าที่ขออัตรากำลังและให้นักเรียนที่ใช้ทุนมีอัตรามีตำแหน่งบรรจุ
นอกจากเรื่องยกเลิกอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้แพทย์ ทันตแพทย์ จบใหม่แล้ว ปัญหาบุคลากรสาธารณสุขในสังกัด สธ.ก็ยังวนเวียนและแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของแต่ละวิชาชีพสาธารณสุขที่ด้อยกว่าวิชาชีพในกระทรวงอื่น ทั้งยังตันอยู่ในตำแหน่งและไม่มีทีท่าว่าจะเติบโตไปได้ ปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการรุ่นน้องและรุ่นพี่ ปัญหาบุคลากรตกค้างที่รอการบรรจุอย่างไม่มีความหวัง ฯลฯ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องคาราคาซังที่กระทบต่อขวัญกำลังใจคนทำงานและไม่สามารถจูงใจและดึงให้บุคลากรคงอยู่ในระบบนี้ได้
2. “อนุทิน” เจ้ากระทรวงหมอคนใหม่
จากรัฐบาล คสช.ที่บริหารต่อเนื่องมายาวนาน โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นั่งบริหารกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี โดยรับไม้ผลัดต่อจาก ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน หลังการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคภูมิใจไทยได้โดดเข้าร่วมรัฐบาล นอกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังได้นั่งควบตำแหน่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุข เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อผลักดันนโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ที่ใช้หาเสียงเรียกคะแนนเลือกตั้ง และในฐานะอดีต รมช.สาธารณสุข ผู้คุ้นเคยกับ สธ.มาบ้างแล้ว งานนี้บอกได้ว่าไม่ได้มาคนเดียว แต่ดึงทีมแพทย์ชนบทที่เคยทำงานร่วมกันมาช่วยสนับสนุน พร้อมบุคคลในแวดวงสาธารณสุขที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมาช่วยเป็นไม้เป็นมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ นพ.สำเริง แหยงกระโทก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข เป็นต้น นอกจากให้บรรลุเป้าหมายการบริหาร “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง” ยังเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขที่ยังติดขัด ไม่ว่าจะเป็นในด้าน กำลังคน และการบริหารจัดการ เช่น การลดความแออัดในโรงพยาบาล การพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรในระบบสาธารณสุข เป็นต้น
ในครั้งนี้มี นายสาธิต ปิตุเตชะ นั่งเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข ตามโควต้ารัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอนุทินได้แบ่งดูงาน 4 กรม คือ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต นอกจากทีมที่ปรึกษาที่พรรคส่งมาสนับสนุนแล้ว ยังดึง นพ.ไพจิตร วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั่งประธานที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข เพื่อคอยสนับสนุนการทำงานและช่วยสร้างบทบาทในฐานะ รมช. ในระยะแรกของการเข้าบริหาร สธ. ภาพการทำงานที่สื่อออกมาของ รมต.ทั้ง 2 ดูกลมเกลียวแม้ต่างพรรค แต่จะคงความราบรื่นในระยะยาวหรือไม่ ยังต้องติดตาม
3. เสรีกัญชาทางการแพทย์
คงต้องยกเป็นประเด็นเด่นในรอบปีนี้ จากเป็นการดำเนินการต่อเนื่องปี 2561 โดย ศ.นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ผลักดันให้ สธ. เสนอแก้กฎหมายเพื่อให้สารสกัดกัญชาเป็นยาเสพติด ประเภท 2 จากประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งได้รับการตอบรับการแก้ไขโดยออก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
ความฮือฮาอย่างหนักจนเกิดกระแสกัญชาฟีเวอร์ในปีนี้ นอกจากความต้องการของผู้ป่วยที่หวังผลการรักษาจากฤทธิ์กัญชาแล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากการใช้เป็นนโยบายหาเสียงโดยพรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค หลังร่วมรัฐบาลจึงขอโดดนั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข เพื่อผลักดันเรื่องนี้ ส่งผลให้การเดินหน้าเปิดเสรีกัญาทางการแพทย์มีความชัดเจนและรวดเร็ว ได้รับการตอบรับจากกรมและหน่วยงาน ภายใต้สังกัด สธ. ทั้งในการสกัดน้ำมันกัญชา การขึ้นทะเบียน การรักษาและติดตามประเมินผล เป็นต้น
กระแสความต้องการใช้กัญชาหยุดไม่อยู่ จากกรณีที่ อย.ใช้เวลาพิจารณาเพื่อรับรองน้ำมันกัญชาสูตร นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือ อ.เดชา นานกว่า 4 เดือน ส่งผลให้ภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย โดย 12 เครือข่ายองค์กรได้ออกมาเรียกร้องเพราะมองว่าเป็นการเตะถ่วง ขณะที่การรับรองน้ำมันกัญชาที่สกัดโดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ใช้เวลาเพียง 6 วัน เรื่องนี้ร้อนจนนายอนุทินต้องลงมาจัดการ ส่งผลให้น้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ได้รับการรับรองจาก อย.ในที่สุด จากความล่าช้านี้ส่งผลให้การโยกย้ายข้าราชการ สธ.ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏชื่อ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถูกสับเปลี่ยนไปนั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแทน แม้ว่านายอนุทินจะออกมาปฏิเสธ แต่สื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกต เนื่องจาก อย.เป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามในการศึกษาวิจัยการนำกัญชามาใช้รักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มุ่งรักษาเพียง 4 โรค คือ โรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็ก โรคทางสมอง เช่นพาร์กินสัน โรคมะเร็ง และการลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีน อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย สำหรับในส่วนของคลินิกกัญชานั้น สธ.ได้เดินหน้าแล้ว โดยเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน 110 แห่ง และแพทย์แผนไทยอีก 24 แห่ง
4.แบน 3 สารเคมีปราบศัตรูพืช
นับเป็นข่าวร้อนแรงในช่วงใกล้ปลายปี 2562 จากความพยายามให้มีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีปราบศัตรูพืชในประเทศ ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) และเครือข่ายภาคประชาชน จากตัวเลขผลเสียต่อสุขภาพที่ชัดเจน ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีสาเหตุจากสารเคมีทั้ง 3 รายการ ในช่วง 10 เดือน ที่มีรายงานกว่า 3,067 ราย และเสียชีวิต 407 ราย ไม่รวมย้อนหลังในปี 2561 ได้รับเสียงตอบรับสนับสนุนจากนายอนุทิน ออกตัวแรงให้เร่งออกประกาศห้ามใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชทั้ง 3 รายการ โดยย้ำจุดยืนเดียวกับ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ก่อนหน้านี้ พร้อมสั่งให้ผู้บริหารทุกกรมในสังกัด รวมถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศแขวนป้ายแบน 3 สารเคมีปราบศัตรูพืช
อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะเป็นข่าวดี เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ได้มีประกาศจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ได้พิจารณาโดยมีความเห็นให้ 3 สารเคมีปราบศัตรูพืช จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการกลับมติใหม่ เลื่อนการห้ามใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสไปในวันที่ 1 มิ.ย.2563 หรืออีก 6 เดือน และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซตที่เท่ากับไม่แบน โดยเสียงชี้แจงจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าเพื่อดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ขอลาออกจากกรรมการชุดนี้ โดยระบุว่ามติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยยังคงยืนยันจุดยืนแบน 3 สารเคมี
ส่วนของนายอนุทินได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันผลเสียที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และขอให้คณะกรรมการฯ ทบทวน เรื่องนี้ สธ.เดินหน้าสุดซอยแล้ว คงต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป นอกจากนี้ยังมีบุคลากรในระบบสาธารณสุข ที่ได้รวบรวม 5.7 รายชื่อ เพื่อขอให้รัฐบาลเดินหน้าแบนสารเคมีนี้
5.ออกประกาศคุมราคายา รพ.เอกชน
เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของภาคประชาชนในการเรียกร้องมาตรการควบคุมราคายาโรงพยาบาลต่อกระทรวงพาณิชย์ หลังจากได้เคลื่อนไหวมานานหลายปี จากปัญหาราคายาในโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินจริงหลายเท่าตัวทั้งที่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต โดยในที่สุดปี 2562 นี้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมตินำค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้ว และได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ได้เห็นชอบ พร้อมออกประกาศ กกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ที่มีผลใช้บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
งานนี้ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และผู้ผลิตยาทุกแห่ง ต้องแจ้งข้อมูลราคายาต่อกรมการค้าภายในเพื่อจัดทำระบบตรวจสอบราคายาผ่าน QR CODE และผ่านเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (www.dit.go.th) เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบราคายาได้ โดยระบบได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย
ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอทุเลาประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าการรักษาพยาบาลและยาเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค
6. เหตุความรุนแรงใน รพ.
ปี 2562 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง จากรายงานกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าเป็นปีที่มีสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยสูงถึง 26 เหตุการณ์ จาก 64 เหตุกาณ์ ความรุนแรงนี้ค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 2555 และ 2556 ที่มีรายงานเพียงเหตุการณ์เดียว ทำให้มีประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยความรุนแรงในโรงพยาบาลในปี 2562 นี้ ได้ถูกนำเสนอข่าวตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะกรณีวัยรุ่นยกพวกตีกันที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รพ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.ห้วยแถลง และ รพ.ประทาย จ.นครราชสีมา รพ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร รพ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี และ ล่าสุดที่ รพ.อ่างทอง จ.อ่างทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีการบุกทำร้ายผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินที่ รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จ.ชลบุรี
เหตุความรุนแรงนี้ยังมีกรณีที่ผู้ป่วยทำร้ายบุคลากรสาธารณสุข ทั้งที่ รพ.ปลวกแดงกรณีคนไข้ตบหน้าพยาบาลหน้าห้องฉุกเฉินเหตุรอนาน และกรณีผู้ป่วยในใช้กรรไกรหวังทำร้ายหมอที่ รพ.ในจังหวัดขอนแก่น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เร่งมาตรการเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยและบุคลากร รพ. นอกจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งก่อนหน้านี้แล้ว ได้เพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง การจัดระบบควบคุมประตูเข้าออกห้องฉุกเฉิน กริ่งสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และการประสานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการป้องกันตัวเมื่อเผชิญเหตุให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับมือต่อสถานการณ์
7. ลดความแออัดโรงพยาบาล ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองรับยาร้านยา
เป็นปีที่ได้เริ่มต้นนโยบาย “ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นผลจากการมอบนโยบายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ให้ลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยา และได้รับการตอบรับจากสภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชชุมชน (ประเทศไทย) และกระทรวงสาธารณสุข โดยดีเดย์เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา
จากนโยบายนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคอยรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ที่บางครั้งผู้ป่วยต้องใช้เวลารอนับชั่วโมงด้วยจำนวนผู้ป่วยรอรับยาที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังรับการตรวจจากคุณหมอแล้วและรับยาที่ร้านยาเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นเป็นกาจ่ายยาเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อนที่โรงพยาบาลกำหนด การันตีว่ายาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาในโครงการเป็นยาตัวเดียวกับที่ รพ.สั่งจ่าย โดยผู้ป่วยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ ทั้งสิ้น โดย สปสช.จัดสรรงบสนับสนุนดำเนินการทั้งในส่วนของ รพ.และร้านยา
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 สปสช.ได้ตั้งเป้านำร่องโครงการใน 50 โรงพยาบาล และ 500 ร้านยาเข้าร่วม และจากรายงานล่าสุดได้มี 55 โรงพยาบาล และ 505 ร้านยา ใน 38 จังหวัดเข้าร่วมแล้ว ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นหนึ่งในการพัฒนาระบบเพื่อดูแลผู้ป่วย
8. พบผู้ป่วยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐ ไทยพบรายแรก
ตามที่ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาได้รายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 450 ราย ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน และเสียชีวิตแล้ว 7 ราย และมีรายงานแนวโน้มจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้โรงพยาบาลภายใต้สังกัดทั่วประเทศจัดระบบรายงานเพื่อติดตาม
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 กรมควบคุมได้รายงาน พบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 หลังการสอบสวนโรคโดยผ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและระบบทางเดินหายใจและชี้ชัดว่าภาวะโรคปอดอักเสบรายนี้เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด มีอาการดีขึ้น ตอบสนองต่อการรักษา
ในประเด็นนี้ นายอนุทิน ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงจุดยืนคงมาตรการ สธ. ในการห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้สูบ และกระทบต่อส่วนร่วมในการรักษาพยาบาล พร้อมแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีชาวเน็ตร่วมแสงความเห็นกว่า 380 ความเห็น และแชร์ไปกว่า 1,200 ครั้ง ที่มีกระแสสนับสนุนและไม่เห็นด้วย
9.ตัดงบกองทุนเฉพาะ กองทุนบัตรทอง
ข่าวตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นประเด็นร้อนในปีนี้ จากการแถลงข่าวโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ได้เปิดเผยข้อมูลในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณปี 2563 โดย ครม.ชุดที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณได้ตัดงบนอกเหมาจ่ายรายหัว หรือ “งบกองทุนเฉพาะโรค” เช่น ค่าบริการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ กองทุนเอดส์ กองทุนโรคไต ทำให้งบประมาณกองทุนหายไปเกือบ 680 ล้านบาท ที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ในช่วงที่มีข่าวการตัดงบประมาณกองทุนบัตรนี้ เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยไปเที่ยวโดยการแจกเงินให้คนละ 1,500 บาท และใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจไปกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้เกิดกระแสการตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณของรัฐบาล ร้อนถึงรัฐบาลส่ง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่าไม่มีการตัดงบกองทุนบัตรทอง พร้อมระบุว่าเป็นข่าวปลอม ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า เรื่องงบประมาณยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ระหว่างการยืนยันตัวเลขเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนรัฐบาล แต่สุขภาพประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่พอ ขอเพิ่มเติมได้ ไม่ต้องกังวล
10. เพิ่มค่าตอบแทน อสม.
ข่าวเด่นสุดท้าย ปี 2562 ต้องยกให้ “เพิ่มค่าตอบแทน อสม.” หนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคการเมืองใช้แข่งหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องด้วยจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน โดยพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเพิ่มเป็น 1,200 บาท พรรคพลังประชารัฐ 5,000 บาท และพรรคภูมิใจไทย 2,500–10,000 บาท ซึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งปลายปี 2561 รัฐบาล คสช.ได้ปรับจาก 600 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาท
ภายหลังจากการเลือกตั้งด้วยพรรคภูมิใจไทยที่ได้นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งทำตามสัญญาที่ได้ประกาศไว้ในการเพิ่มค่าตอบแทน อสม. 2,500 บาท โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น จะนำมาจากการลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาล จากการทำหน้าที่ของ อสม. ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เบื้องต้นได้มีการจัดทำแผนนโยบาย โดยได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน พร้อมอบรม อสม. จำนวน 80,000 คน ทั้งนี้ อสม.ที่ผ่านการประเมินหลังการอบรมแล้วจะได้รับค่าตอบแทน 2,500 บาทต่อเดือน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ประกาศชัดเจนว่าจะสามารถนำร่องเพิ่มการจจ่ายค่าตอบแทน อสม. ได้ในเดือนเมษายน 2563 คงต้องช่วยกันลุ้น
นอกจากนี้ยังมีนโยบายจัดตั้ง 2 กองทุนสวัสดิการเพื่อดูแล อสม. ได้แก่ 1.กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยเก็บเงินจาก อสม. คนละ 50 สตางค์ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว อสม.ที่เสียชีวิต และ 2. กองทุนบำนาญ อสม.เพื่อดูแล อสม.ที่ยังมีชีวิตอยู่ เหล่านี้เป็นการดำเนินการเพื่อดึงคะแนน อสม.ในอนาคตให้อยู่ในมือ
- 1363 views