รพ.จุฬาภรณ์เผยผลวิจัยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหญิงไทย 5 พันคน พบป่วยระยะเริ่มต้น 4 ราย ติดเชื้อกว่า 700 ราย ระบุส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ 52 รองลงมาคือ 16, 18 เตรียมศึกษากลุ่มตัวอย่างเพิ่มเพื่อหาสายพันธุ์ในคนไทย แนะประชาชนมีเซ็กซ์ปลอดภัย และตรวจคัดกรองเสมอ พร้อมเผยเทคนิคการตรวจเชื้อเอชพีวีแบบใหม่ผ่านปัสสาวะ-ประจำเดือน ให้ผลแม่นยำ 50-60%
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร ผอ.รพ.จุฬา ภรณ์, นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งวิทยา และนางจันทนี แต้ไพสิฐพงษ์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานโครงการบำเพ็ญพระกุศล "โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่" ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ได้เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2555 เพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้หญิงไทย อายุระหว่าง 20-70 ปี จำนวน 4,487 ราย โดยผลการคัดกรองพบการติดเชื้อทั้งหมด 692 ราย คิดเป็น 15.4% ในจำนวนนี้เป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 322 ราย คิดเป็น 7.2% เชื้อที่มีความเสี่ยงปานกลางจำนวน 72 ราย คิดเป็น 1.6% และพบสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจำนวน 433 ราย คิดเป็น 9.7%
นพ.ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการตรวจคัดกรองยังทำให้พบผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 A หรือระยะต้น จำนวน 4 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดจากสายพันธุ์ 72 โดยทาง รพ.จุฬาภรณ์ได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องจนหาย ขาดแล้ว แต่ยังต้องติดตามอาการต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 3-5% ขณะเดียวกันยังพบผู้มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งจำนวน 237 ราย ซึ่งได้ทำการรักษาก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตแล้ว
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตรวจพบการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างสายพันธุ์ 52 จำนวน 76 ราย รองลงมาคือสายพันธุ์ 16 จำนวน 62 ราย ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่มักจะพบสายพันธุ์ 16, 18 มากกว่า ซึ่งสองสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์รุนแรง และเป็นที่มาของการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ส่วนข้อมูลในประเทศไทยกลับพบว่ามีสายพันธุ์ 52 มากที่สุดนั้น ยังไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นสายพันธุ์ในคนไทย เพราะนี่คือกลุ่มประชากรที่เข้ามาที่ รพ.จุฬาภรณ์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาในชุมชนเพิ่มเติมในทุกๆ ภาคของประเทศ เพื่อยืนยันผลว่าเป็นสายพันธุ์นี้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการลงพื้นที่คัดกรองที่ ต.บางแขยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อประโยชน์ในการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกต่อไป
"ยิ่งอายุน้อยยิ่งเจอเชื้อค่อนข้างสูง แต่โดยหลักการติดเชื้อเอชพีวีเหล่านี้ตรวจติดตามไปจะสามารถหายได้เองถึง 95% มีเพียง 5% เท่านั้นที่กลายเป็นมะเร็ง และจากการตรวจคัดกรองพบผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 จำนวน 4 ราย 3 ใน 4 เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดจากสายพันธุ์ 72 ส่วน 52 เจอบ่อย แต่ไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าหากใช้วัคซีนป้องกันโดยทฤษฎีอาจจะสามารถลดการเกิดโรคได้ 3 ใน 4 คน แต่ตรงนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังเจอน้อยอยู่ แต่จำนวน 4 คนนี้จริงๆ ถือว่าไม่น้อย เพราะตามหลัก 4 ใน 4 พัน เท่ากับ 1 ในพัน แต่เวลาดูค่ามะเร็งจะดูต่อแสนประชากร เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเท่ากับ 100 ต่อแสนประชากร" นพ.ณัฐวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคุ้มค่าในการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า รัฐบาลต้องไปทำการต่อรองราคาเพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่าต่อประชาชน เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น อยากจะแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือถ้ามีกำลังทรัพย์ก็ควรฉีดวัคซีนป้อง กัน และหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไปแล้ว 3 ปีให้ไปตรวจคัดกรอง
"คนไทยมีความเชื่อที่ผิดและอายที่จะตรวจภายใน อายที่จะมาเปิดอวัยวะเพศให้หมอดู ในปัจจุบันจึงมีการตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยไม่ต้องตรวจภายใน ซึ่งทาง รพ.จุฬาภรณ์ได้มีการศึกษาการตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยใช้ปัสสาวะและเลือดประจำเดือน โดยเอาผ้าอนามัยเปื้อนเลือดประจำเดือนมาตรวจ ให้ผลแม่ยำประมาณ 50-60% นอกจากนี้ยังมีการตรวจเชื้อเอชพีวีบริเวณทวารหนักในผู้หญิง เหมือนกับที่มีการศึกษาในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนัก แต่ผลไม่ได้ไปด้วยกันเท่าไหร่ จึงเป็นเพียงทางเลือกในการตรวจเท่านั้น แต่ทางเลือกหลักคือการตรวจภายในเก็บเซลล์ตรงปากมดลูก ปัจจุบันมีอุปกรณ์เก็บเซลล์ที่คนไข้นำไปเก็บเซลล์จากช่องคลอดด้วยตัวเองแล้วมาส่งที่โรงพยาบาล ขณะนี้มีการศึกษาในต่างประเทศ และประเทศไทยเริ่มนำเข้ามาแล้ว คิดว่าจะได้ใช้เร็วๆ นี้"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556
- 76 views