สธ.แนะผู้หญิง 1 คนต้องมีบุตรเฉลี่ย2.1คน เพื่อสร้างสมดุลประชากร ชี้ปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากขึ้น
วันที่ 12 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย ตัวแทนจากสถานทูตญี่ปุ่น และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย(ไจก้า) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน
โดยนพ.ชาญวิทย์ เปิดเผยว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยอัตราส่วนผู้สูงอายุเท่ากับ 1 ใน 2 ของประชากรเด็ก ทำให้ผู้สูงอายุมีผู้ดูแลลดน้อยลง ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 8.1 ล้านคน หรือ 12% ของคนไทย และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเรียกว่าวัยปลายประมาณ 9.8% หรือราว 8 แสนคน โดยคาดว่ากลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 12.4% ในปี 2568 หรือกว่า 1 ล้านคนในอีก 12 ปี จึงต้องเร่งหารูปแบบบริการระยะยาวแก่ผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยให้ชุมชนมีบทบาทดูแล เพื่อลดอัตราการรักษาตัว โดยนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
“ต้องทำให้โครงสร้างอายุประชากรสมดุล คือผู้หญิง 1 คนต้องมีบุตรเฉลี่ย 2.1 คน ซึ่งขณะนี้มีแค่ 1.5 จึงมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยหลังจากนี้ จะมีการจัดรูปแบบ เพื่อลดภาระในการดูแลผู้สูงอายุ โดยให้อยู่กับครอบครัวนานที่สุด โดยจะดำเนินการ 5 ปี ระหว่างปี 2556-2560 เพื่อต่อยอดจากโครงการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการโดยชุมชนสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย(CTOP) ทั้งนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด และผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น กำหนดนโยบาย โดยมีปลัดสธ.และปลัดพม.เป็นประธาน และชุดคณะกรรมการดำเนินงานในพื้นที่”
ที่มา: http://www.posttoday.com
- 2 views