กสพท.เผย รพ.โรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศเตรียมปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล หลังถูกจำกัดรายได้จากกองทุนรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ซ้ำหมดทางปรับลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ระบุนำมาเพิ่มเงินเดือน-จ้างบุคลากรในระบบ ป้องกันปัญหาลาออกไปอยู่ รพ.เอกชน และรักษาสมดุลบริการรักษาพยาบาล ชี้หาก รพ.รัฐมีบริการไม่ครบ คนจะแห่ไปที่ รพ.เอกชนจนหมด เพราะการรักษาเป็นสิ่งรอไม่ได้
นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะรองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ผู้รับบริการหลักมาจาก 3 กองทุนรักษาพยาบาลที่ควบคุมงบประมาณด้วยการใช้อัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นรูปแบบที่มีการกำหนดเพดานราคาค่ารักษาและจ่ายเท่าที่มีงบประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รายได้จากการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลถูกจำกัดต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดคือค่าจ้างบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์สาขาพิเศษ ประกอบกับการขึ้นค่าแรงเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีเงินอุดหนุน แต่ให้เฉพาะกับกลุ่มข้าราชการเท่านั้น ขณะที่บุคลากรในโรงเรียนแพทย์ 80-90% เป็นพนักงานของโรงพยาบาล ทำให้โรงเรียนแพทย์ต้องหาวิธีดิ้นรนเพื่อเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนให้กับบุคลากรเหล่านี้
"การที่โรงเรียนแพทย์ปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ที่ผ่านมาทำทั้งตัดรายจ่าย การชะลอการจัดซื้อและก่อสร้าง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมถึงการหารายได้เพิ่มเพื่อมาสนับสนุนก็แล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอ แค่แต่ละปีที่ต้องปรับเพิ่มเงินเดือน 4% เราก็แย่แล้ว แต่ปีนี้มีการเพิ่มค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทอีก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีพนักงานและลูกจ้าง 4,500 คน หากเพิ่มเงินเดือนให้พันบาทต่อคน ตกเดือนละ 4.5 ล้านบาทแล้ว" รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าว และว่า หากไม่ปรับเพิ่มค่ารักษาก็คงไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามา ไม่แต่เฉพาะแต่โรงเรียนแพทย์ แต่โรงพยาบาลทุกแห่งต่างประสบปัญหาเหมือนกันหมด
นพ.สุธรรม กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล เชื่อว่าโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งต่างทยอยขยับขึ้นหมด รวมทั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ซึ่งได้ปรับเพิ่มไปแล้ว ทั้งค่าอาหาร ค่าห้องพัก และค่าบริการทางการแพทย์ โดยจัดเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่สละสิทธิ์การรักษาตามระบบกองทุน และยินดีจ่ายเพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งมีประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งนี้ รายได้จะนำไปเพื่อดึงบุคลากรให้อยู่ในระบบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ไม่ให้ไหลไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมเปิดรับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นทางโรงเรียนแพทย์ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และเข้าใจปัญหา ซึ่งทางออกคงต้องเติมงบประมาณลงไป
"สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากเราไม่สามารถดึงบุคลากรไว้ได้ ปัญหาก็จะเกิด อย่างเช่น เรามี 10 แผนกที่ให้บริการรักษาพยาบาล หากแต่ละแผนกมีคนลาออกไปแม้เพียงแค่ 5% ภาพรวมคนก็หายไป 50% แล้ว ภาระงานจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น และหากเป็นแผนกที่มีความสำคัญ อย่างเช่น พยาบาลประจำห้องผ่าตัด พยาบาลห้องไอซียู หรือนักรังสีวิทยา เป็นต้น ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบ ไม่สามารถเปิดเตียงผ่าตัดหรือเตียงไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ ประสิทธิภาพการให้บริการก็หายไปแล้ว เกิดการติดขัด ดังนั้นเราจึงต้องแข่งกับ รพ.เอกชนดึงคนให้อยู่ในระบบ เพื่อรักษาสมดุลการบริการรักษาพยาบาล ไม่เช่นนั้นการลาออกของบุคลากรอาจมีมากขึ้น เพราะแบกรับภาระงานไม่ไหว" นพ.สุธรรมกล่าว และว่า ขณะเดียวกันหาก รร.แพทย์ไม่สามารถรักษาสมดุลการรักษาพยาบาลไว้ได้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาจต้องเลือกเข้ารับการรักษา รพ.เอกชนที่มีความพร้อมมากกว่า เพราะว่าการรักษาเป็นสิ่งที่รอไม่ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 28 มกราคม 2556
- 4 views