โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 800 แห่ง-โรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศเตรียมปรับค่าบริการรักษาเพิ่ม 20-30% หลังถูกจำกัดรายได้จาก "กองทุนรักษาพยาบาล" ต่อเนื่องระบุนำเงินเพิ่มค่าเงินเดือน-จ้างบุคลากรในระบบ ป้องกันปัญหาลาออกทำงานเอกชน และรักษาสมดุลบริการรักษาพยาบาล
กว่า 10 ปีมาแล้วที่อัตราค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 800 กว่าแห่งหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่มีการปรับเพิ่ม สวนทางกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การคิดคำนวณค่ารักษาพยาบาลที่ปรากฏทุกวันนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำการทบทวนการปรับอัตราค่าบริการ โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อปรับอัตราค่าบริการรักษาพยาบาลและเรื่องนี้ไม่ได้พึ่งเริ่มทำ แต่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านบริหารเมื่อหลายปีมาแล้ว เนื่องจากมองว่าอัตราค่าบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัด ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปีมาแล้ว จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาในจุดนี้ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเพื่อคำนวณการปรับเพิ่มค่ารักษาอย่างเหมาะสม แยกไปตามสาขาต่างๆ เช่น การทำกายภาพบำบัด การทำหัตถการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะมีการหารือเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการนำเสนอ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาการอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน เนื่องจากส่วนใหญ่ต่างเป็นผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่กองทุนเป็นผู้ดูแลค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการคำนวณการจ่ายโดยใช้หลักเกณฑ์ดีอาร์จีจึงไม่มีผล เพียงแต่อาจกระทบบ้างกับผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งมีไม่มากอย่างไรก็ตามอัตราค่าบริการทางการแพทย์ที่ปรับใหม่นี้ จะใช้เป็นมาตรฐานเพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บ
"กระทรวงสาธารณสุขตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการ ทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่กระทรวงจัดเก็บอยู่นี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นจำเป็นที่ต้องมีการทบทวน" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สมาพันธ์แพทย์หนุนเพิ่มค่ารักษา
ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ปกติอัตราค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะถูกกำหนดจากส่วนกลางเพื่อใช้คิดราคาค่ารักษาตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดเล็ก อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไปจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราค่ารักษาที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ใช้มานานกว่า 20 ปีมาแล้ว เพราะแม้ปี 2544 จะมีการจัดทำอัตราค่ารักษาพยาบาลขึ้นมาใหม่ แต่ถูกกรมบัญชีกลางตีกลับและให้ราคาเดิมในปี 2529 ส่งผลให้อัตราค่ารักษาที่ใช้ทุกวันนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ประกอบกับปี 2545 มีการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ที่เป็นระบบเหมาจ่ายค่ารักษาและคำนวณตามดีอาร์จีที่คิดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีการทบทวนอัตราค่ารักษาอีกเลย
พญ.ประชุมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์แพทย์ฯ ได้เคยออกมาเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขให้ทบทวนค่ารักษา ที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงและส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นหมด แต่อัตราค่ารักษาพยาบาลยังคงที่ ทำให้โรงพยาบาลต้องแบบรับภาระ
"มีบางคนมองว่าการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลครั้งนี้เป็นการรีดไถ่ผู้ป่วย อยากให้เข้าใจเพราะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เพิ่มค่ารักษามานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว ทั้งที่การปรับเพิ่มควรดำเนินการทุก 2-3 ปี อย่างการคลอด หากเป็นการคลอดเองอยู่ที่ 4,000 บาท แต่ถ้าผ่าคลอดอยู่ที่ 12,000 บาท ถือว่าถูกมากต่างจากโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีการปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง"
พญ.ประชุมพร กล่าวว่า อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ทบทวนใหม่นี้ ยังนำไปใช้อ้างอิงคิดคำนวณค่าดีอาร์จีในการรักษาพยาบาลกองทุนต่างๆ ในอนาคต จึงยังไม่มีผลในตอนนี้ อาจจะมีผลในปีงบประมาณ 2558 ทั้งยังไม่กระทบต่อประชาชนเพราะส่วนใหญ่ต่างมีสิทธิ์ในกองทุนรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงต้องพูดให้ชัดเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
ส่วนที่เกรงว่าอาจกระทบกับผู้ป่วยที่จ่ายเงินค่ารักษาเองนั้น พญ.ประชุมพร กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาและโรงพยาบาลแบกรับภาระอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีเงินส่วนใหญ่ก็จะไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงเรียนแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งก็ไม่เข้าโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว
หมอชนบทชี้คิดราคาเหมาะสม
ขณะที่ ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การจะปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มหากเป็นการคิดตามต้นทุนจริงคงไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันค่าบริการบางอย่างต่ำกว่าต้นทุน บางอย่างสูงกว่าต้นทุน บางรายการขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการรักษา โดยค่ารักษาที่สูงกว่าต้นทุน อาทิ การใส่เลนส์ตาต้อกระจก จากเดิมกระทรวงกำหนดค่าเลนส์ตา 20,000-30,000 บาท แต่เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้กลไกต่อรองราคา เหลือเพียง 7,800 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกับการล้างไตที่แต่เดิมกำหนดไว้ที่ 3,000-5,000 บาทต่อครั้ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1,500 บาท เช่นเดียวกับการเจาะตรวจเบาหวาน จากเดิมอยู่ที่ 25 บาท แต่ภายหลังค่าตรวจเหลือเพียงแค่ 10-11 บาทเท่านั้น ขณะที่การผ่าตัดใส่สายสวนหัวใจราคาต่ำกว่าความเป็นจริง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 10,000 บาท แต่ภายหลังต้องขยับเป็น 70,000-80,000 บาท ดังนั้นการทบทวนราคาค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อให้สะท้อนข้อมูลที่เป็นจริง
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่ในการทบทวนราคากระทรวงสาธารณสุขต้องหารือกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้ซื้อ รวมถึงหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานการรักษาโรงพยาบาล (HA)
"วันนี้หากถามว่าเห็นด้วยกับการปรับค่ารักษาพยาบาลหรือไม่นั้น ผมเห็นด้วย แต่อยากให้ทำราคาภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่ใช่ตั้งราคาเว่อร์เกินไป และหากกำหนดราคาที่สูงเกินไป บริษัทยาและเวชภัณฑ์ก็จะขายในราคาที่สูงตาม เป็นผลกระทบเชิงระบบ " นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
โรงเรียนแพทย์ดิ้นปรับราคา
นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะรองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ผู้รับบริการหลักมาจาก 3 กองทุนรักษาพยาบาลที่ควบคุมงบประมาณด้วยการใช้อัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นรูปแบบที่มีการกำหนดเพดานราคาค่ารักษาและจ่ายเท่าที่มีงบประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รายได้จากการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลถูกจำกัดต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดคือค่าจ้างบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์แพทย์สาขาพิเศษ ประกอบกับการขึ้นค่าแรงเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีเงินอุดหนุน แต่ให้เฉพาะกับกลุ่มข้าราชการเท่านั้น ขณะที่บุคลากรในโรงเรียนแพทย์ 80-90% เป็นพนักงานของโรงพยาบาล ทำให้โรงเรียนแพทย์ต้องหาวิธีดิ้นรนเพื่อเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนให้กับบุคลากรเหล่านี้
"การที่โรงเรียนแพทย์ปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ที่ผ่านมาทำทั้งตัดรายจ่าย การชะลอการจัดซื้อและก่อสร้าง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมถึงการหารายได้เพิ่มเพื่อมาสนับสนุนก็แล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอ แค่แต่ละปีที่ต้องปรับเพิ่มเงินเดือน 4% เราก็แย่แล้ว แต่ปีนี้มีการเพิ่มค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทอีก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีพนักงานและลูกจ้าง 4,500 คน หากเพิ่มเงินเดือนให้พันบาทต่อคน ตกเดือนละ 4.5 ล้านบาทแล้ว" รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าว และว่า หากไม่ปรับเพิ่มค่ารักษาก็คงไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามา ไม่แต่เฉพาะแต่โรงเรียนแพทย์ แต่โรงพยาบาลทุกแห่งต่างประสบปัญหา
นพ.สุธรรม กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล เชื่อว่าโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งต่างทยอยขยับขึ้นหมด รวมทั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ซึ่งได้ปรับเพิ่มไปแล้ว ทั้งค่าอาหาร ค่าห้องพัก และค่าบริการทางการแพทย์ โดยจัดเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่สละสิทธิ์การรักษาตามระบบกองทุนและยินดีจ่ายเพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งมีประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งนี้รายได้จะนำไปเพื่อดึงบุคลากรให้อยู่ในระบบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ไม่ให้ไหลไปยังโรงพยาบาลเอกชน
"สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากเราไม่สามารถดึงบุคลากรไว้ได้ปัญหาก็จะเกิด อย่างเช่น เรามี 10 แผนกที่ให้บริการรักษาพยาบาล หากแต่ละแผนกมีคนลาออกไปแม้เพียงแค่ 5% ภาพรวมคนก็หายไป 50% แล้ว ภาระงานจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น และหากเป็นแผนกที่มีความสำคัญ อย่างเช่น พยาบาลประจำห้องผ่าตัด พยาบาลห้องไอซียู หรือนักรังสีวิทยา เป็นต้น ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบ ไม่สามารถเปิดเตียงผ่าตัดหรือเตียงไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ " นพ.สุธรรม กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มกราคม 2556
- 68 views