พาณิชย์ ยันยังไม่เริ่มเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เตรียมชงกรอบเข้าสภาก่อนสิ้นเดือนนี้ ระบุทุกอย่างเป็นไปตามมาตรา 190 คาดเปิดประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้-เสียในไตรมาสแรกของปีนี้ ด้านเอ็นจีโอดาหน้าถล่ม อัดฟังแต่เสียงภาคธุรกิจ เมินรักษาประโยชน์ภาคประชาชน แนะปรับปรุงร่างกรอบเจรจาใหม่
นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ว่า จะได้นำเสนอต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 คาดจะนำเสนอได้ภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนมาตรา 190 เรียบร้อยแล้วจะได้เปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อไป คาดจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
"ขณะนี้เอ็นจีโอกำลังจับตาไทย-อียูอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมเองก็ทำอะไรมากไม่ได้เพราะต้องรอผ่านมาตรา190 ก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเจรจา ซึ่งกรอบการเจรจาก็มี 3 ด้านคือการค้า การลงทุนและการบริการ ทั้งนี้สิ่งที่เอ็นจีโอกังวลคงเพราะเขาไปรับฟังข้อมูลจากประเทศอื่นแล้วมาคาดการณ์เองว่าเราจะไปเจรจาตามนั้นซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเรายังไม่ได้เปิดเจรจา ทั้งนี้ในเรื่องสิทธิบัตรยาที่ห่วงกันมาก ทางกรมเองก็มีทางออกอยู่แล้วแต่ยังบอกตอนนี้ไม่ได้"
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความกังวลต่อร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ พบว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมกลับเขียนอย่างกว้างๆ ขณะที่เนื้อหาในภาคธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ได้เขียนอย่างรัดกุม ดังนั้นกรมควรนำร่างกรอบเจรจาไปปรับปรุงก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับประชาชน
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้เป็นไปเพื่อการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) เท่านั้น โดยเอาประโยชน์ของทั้งประเทศเข้าแลก ซึ่งกรมเจรจาฯมักอ้างว่า กรอบการเจรจาต้องเขียนให้กว้างซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะมองว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ แต่กลับทอดทิ้งประชาชน
" การเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมาเมื่อภาคเกษตรไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศกลุ่มธุรกิจที่ต้องการผลักดันให้มีการเจรจาก็จะอ้างว่าภาคที่แข่งขันไม่ได้ไม่ควรได้รับการปกป้อง แต่ภาคธุรกิจส่งออกที่พึ่งจีเอสพีทั้งกับสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กลับเรียกร้องการปกป้องจากรัฐบาล ว่าจะสู้คู่แข่งไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับสิทธิจีเอสพี กรอบเจรจาฯนี้ไม่ได้ใส่ใจต่อภาคเกษตรที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงถึง 3-4 เท่าตัว และจะกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร หากรัฐบาลยอมขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชและมีการผูกขาด"
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ ควรนำกรอบเจรจาไปทบทวน และการเปิดประชาพิจารณ์ควรรับฟังจริงๆ ไม่ใช่เปิดรับฟังแบบพิธีกรรมเหมือนที่ผ่านมา เฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไทยจะต้องรับไม่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือทริปส์ เพราะไม่เช่นนั้นไทยจะเสียเปรียบมาก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 24 - 26 มกราคม พ.ศ. 2556
- 2 views