เมื่อวันที่ 15 มกราคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงานประชุมสัมมนาวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ ครั้งที่ 1 ว่า สหประชาชาตินิยามว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 10 หรือ อายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่า ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นร้อยละ 14 ทั้งนี้ ข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 ระบุว่าโลกมีประชากร จำนวน 7,058 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 565 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ผู้สูงอายุประเทศไทยมีอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 12.59 ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ร้อยละ 12.25 เวียดนาม ร้อยละ 8.53 เป็นต้น

นพ.เจษฎากล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคน ในปี 2550 เป็น 7.5 ล้านคน ในปี 2553 และ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในปี 2568 เมื่อ ประเมินแล้วพบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และอีก 10 ปี จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด กรมอนามัยจึงมีแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามวิสัย ทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้ปี 2565 คนไทยต้อง มีอายุคาดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี โดยได้จัด "โครงการอำเภอสุขภาพ ดี 80 ปี ยังแจ๋ว" ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนา เป็นอำเภอสุขภาพดี ซึ่งจะมีเกณฑ์ตัวชี้วัดต่างๆ ทั้งบริการ ส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพ  หลีกเลี่ยงอบายมุขและพฤติกรรม เสี่ยง โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่พึงประสงค์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีตำบลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวผ่านเกณฑ์ อย่างน้อยร้อยละ 20 ส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ระดับพื้นฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและ ภาคีเครือข่ายให้เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแก่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 มกราคม 2556