กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จับมือองค์การเภสัชฯ ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบแห้งและวัคซีนไข้สมองอักเสบ คาดแล้วเสร็จใน 1 ปี รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆด้วย
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าวัคซีนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะหากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองแทนการนำเข้า ดังนั้น จึงได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อภ. ใน 3 ด้านคือ ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับกึ่งอุตสาหกรรม และด้านการพัฒนาบุคลากร โดยผลงานที่เกิดขึ้นทั้ง 2 หน่วยงานจะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันตามสัดส่วนที่แท้จริงของการดำเนินงานและการลงทุน เบื้องต้นจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาขั้นตอนการผลิตวัคซีน 2 โครงการคือ 1.โครงการผลิตวัคซีนไข้หวัด ใหญ่ชนิดเชื้อเป็นให้อยู่ในรูปของวัคซีนแห้งหรือวัคซีนผง จากเดิมที่ผลิตเป็นของเหลวซึ่งจะมีอายุในการเก็บรักษาสั้นกว่า และ 2.โครงการผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดที่ผลิตจากสมองหนู
"ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีความร่วมมือกับ อภ.มาตลอด โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณภาพยาที่ผลิตและนำเข้า" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว และว่า สำหรับความร่วมมือในโครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทำให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนในราคาไม่ถึงเข็มละ 100 บาท จากเดิมที่เคยนำเข้าเข็มละ 300-500 บาท
นพ.นิพนธ์กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ กรม วิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการสุ่มตรวจยาชื่อสามัญที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้วประมาณ 80% ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ตรวจสอบจะเป็นยาครีม ยาทา ทั้งนี้ หากพบว่ามียาตัวใดไม่ได้มาตรฐานจะส่งต่อให้ อย.ตรวจสอบ ดูแล และจัดให้เป็นยากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังในปีต่อไป
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้มีความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาพอสมควร โดยต่อไปประเทศไทยต้องการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพ และความเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขในอาเซียน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป โดยสาเหตุที่เลือกให้มีความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น และวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดที่ผลิตจากสมองหนู เพราะต้องการพัฒนารูปแบบการผลิตให้สั้นลง จากเดิมการผลิตที่ อภ.วิจัยนั้นต้องใช้เวลานาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 มกราคม 2556
- 1 view