ขณะนี้ยังคงมีรายงานการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 (NCoV) หรือมีชื่อใหม่ว่า "The Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV)" ในประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.55-5 ส.ค.56 มีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 จำนวน 94 ราย เสียชีวิต 46 ราย ล่าสุดในวันที่ 18 ก.ค.56 พบผู้ป่วยกระจายอยู่ในหลายประเทศ เช่น จอร์แดน กาตาร์ ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โดยผู้ป่วยในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสบางรายมีประวัติการเดินทางกลับจากประเทศทางตะวันออกกลาง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าโรคนี้มีสัตว์ใดเป็นพาหะ มีการถ่ายทอดเชื้อจากสัตว์สู่คนด้วยรูปแบบใดและเชื้อสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายหรือไม่
น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นอย่างมาก และได้ขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเฝ้าระวังและค้นหากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (Severe acute respiratory infection : SARI) ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดกับคนไทย ได้แก่ การเดินทางไปท่องเที่ยว หรือแสวงบุญในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น พิธีอุมเลาะห์ หรือ ฮัจญ์ ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งจะมีโอกาสติดเชื้อหรือมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการเตรียมห้องปฏิบัติการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งการเตรียมพร้อมน้ำยา เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่เข้าเวรปฏิบัติงาน พร้อมรับการตรวจตัวอย่างในช่วงวันหยุดยาว และช่วงที่มีผู้เดินทางกลับจากพิธีฮัจญ์ เพื่อเฝ้าระวังโรครวมถึงเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล
ด้าน น.พ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ได้ใช้วิธี Realtime RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสามารถรายงานผลได้รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง และมีความจำเพาะ กับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 สามารถแยกชนิดของไวรัสนี้ออกจากไวรัสซาร์ส (SARS) ที่เคยระบาดเมื่อปี 2546 ได้
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพอยู่ในขั้น Unusual or Unexpected เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เก็บและนำส่งตัวอย่าง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเช่นเดียวกับการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส : SARS CoV ขององค์การอนามัยโลกอย่างเคร่งครัด โดยควรเก็บตัวอย่างให้เร็วที่สุดภายใน 1-3 วัน เมื่อผู้ป่วยเริ่มปรากฏ อาการของโรค (อย่างช้าภายใน 3-9 วัน) เก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจส่วนบนหรือทางเดินหายใจส่วนล่างหรือเก็บทั้ง 2 อย่าง ได้แก่ throat swab, nasopharyngeal swab, nasopharyngeal aspiration, broncheoalveolar lavage, tracheal aspirate เมื่อเก็บตัวอย่างแล้วต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งทันทีแล้วส่งห้องปฏิบัติการภายใน 48 ชม. ถ้ายังไม่สามารถส่งตัวอย่างได้ให้เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส อย่าแช่ในช่องแข็งของตู้เย็น แต่กรณีที่ไม่สามารถส่งตรวจภายใน 48 ชม. ให้เก็บในตู้แช่แข็ง -70 องศาเซลเซียส
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 17 สิงหาคม 2556
- ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 (NCoV)
- The Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV)
- ซาอุดีอาระเบีย
- จอร์แดน
- กาตาร์
- ตูนิเซีย
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- สหราชอาณาจักร
- ฝรั่งเศส
- นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- องค์การอนามัยโลก
- พิธีอุมเลาะห์
- ฮัจญ์
- Severe acute respiratory infection(SARI)
- สมชาย แสงกิจพร
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
- Realtime RT-PCR
- ไวรัสซาร์ส(SARS)
- 10 views