สธ.เล็งขายประกันสุขภาพชาวต่างชาติ จัดระบบสาธารณสุขชายแดน ป้องกันโรคหลังเปิดอาเซียน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขระหว่างประเทศ ว่า เรื่องหลักที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มองว่าจะเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเปิดพรมแดนในประชาคมอาเซียน มี 2 เรื่อง คือ 1.โรคอุบัติใหม่ต่างๆ ที่ประเทศไทยเคยคิดว่าหายไปหรือควบคุมได้ เช่น คอตีบ มือเท้าปาก วัณโรค เอดส์ กามโรค และการตั้งครรภ์ในไทยและเพิ่มจำนวนประชากรในไทยหรือโรคใหม่ที่อุบัติขึ้นมา เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานด้านบริการสาธารณสุขที่ต่างกัน จึงได้เน้นให้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับคือเตรียมบุคลากรต่างๆ ให้พร้อม เช่น การให้วัคซีน ส่วนเชิงรุก คือ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตามพรมแดนต่างๆ 2.เรื่องคุณภาพอาหาร ยา สารเคมี เครื่องสำอางต่างๆ ที่จะเข้ามาในประเทศ จะต้องเตรียม พร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในประเทศ อาทิ อาจจะมีการจัดตั้ง ศูนย์กำหนดคุณภาพมาตรฐานในการดูแลคุณภาพมาตรฐานของอาหารและยาหรือเครื่องสำอาง
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีการเปิดพรมแดนอาจจะมีประชาชนเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน จะต้องปรับปรุงระบบบริการและระบบการเงิน ให้สามารถเข้าไปคิดค่ารักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหา รูปแบบ อาจจะเป็นการทำประกันสุขภาพ แต่วิธีนี้อาจมีปัญหาว่า คนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วอาจจะมาซื้อประกัน สุขภาพเพื่อต้องการเข้ามารักษามากขึ้น หรือหากเป็นการรักษาฟรี ก็อาจมีปัญหาว่า ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ จนเป็นปัญหาการเงินของโรงพยาบาลที่รักษาตามมา โดย ในการจัดทำประกันสุขภาพ ทาง สธ.กำลังคิดหา รูปแบบที่เหมาะสมอยู่ว่าควรเป็นรูปแบบใด คิดค่าหัวเท่าใดจึงจะคุ้มทุน และเป็นมาตรฐาน ในการดำเนินการของแต่ละโรงพยาบาล และ คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อคนข้ามมา มากจำนวนภาระต่างๆ ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น การซื้อประกันสุขภาพก็เป็นประโยชน์ในการควบคุมป้องกันโรคอีกทางหนึ่ง
สำหรับกลยุทธ์ที่ไทยจะดำเนินการเมื่อเข้าสู่ประชาคม อาเซียนจะมีหลายอย่าง เช่น สร้างความเชื่อมั่นในด้านการเป็น ผู้นำการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค สนับสนุนให้บริษัท ประกันสุขภาพของไทยไปขายที่ต่างประเทศด้วย หากเข้ามาประเทศไทยแล้วเจ็บป่วยก็สามารถรับการรักษาได้ทันที นอกจากนี้ อาจจะมีการให้ซื้อประกันสุขภาพแบบเชิงท่องเที่ยว หากมาเที่ยวแล้วป่วยก็รักษาได้ไม่เป็นภาระของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่คนไทยไปเที่ยวที่ยุโรป
"เมื่อมีการขายประกันสุขภาพให้ต่างชาติแล้ว สธ.จะให้มี หน่วยงานดูแลไม่ให้มีการเก็บเงินค่ารักษาสูงหรือแพงเกินเหตุ และมีกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นภาษาของประเทศที่จะซื้อประกันสุขภาพ และ อาจเพิ่มช่องทางการขายประกันสุขภาพทางอินเตอร์เนต ซึ่งจะตั้งคณะ ทำงานเชิงรุกเพื่อดำเนินงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ" นพ.ประดิษฐ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 ธันวาคม 2555
- 2 views