'ทีแบน'แฉสปอตโฆษณาสวนมติ ครม.บอกแร่ใยหินไม่อันตราย ชี้ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จี้ อสมท. ระงับทันที และรับผิดชอบสังคม ด้าน สป.เสนอรัฐบาลเพิ่มมาตรการป้องกันสุขภาพ
หลังจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งรัดให้ยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินและมีวัตถุดิบทดแทน ภายในปี 2556 โดยยกเลิกผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ผ้าเบรก และคลัตช์ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคานั้น
วันที่ 25 ธันวาคม ศ.เมธี สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สป. เปิดเผยว่า จากการที่คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ได้ศึกษาและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน ล่าสุดได้ส่งหนังสือถึง ครม. แจ้งข้อสรุปเพิ่มเติมให้กำหนดวิธีรื้อถอนวัสดุ การทำลาย เพื่อไม่ให้แร่ใยหินฟุ้งกระจายจนเป็นอันตรายต่อ ผู้รื้อถอนและผู้อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งควรจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนการทำงาน ออกเป็นกฎหมาย ประกาศ หรือแนวปฏิบัติโดยทั่วกัน เนื่องจาก ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ทำเพียงสั่ง ให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการระงับการใช้แร่ใยหิน
ด้าน นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ในฐานะผู้แทนเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทย (ทีแบน) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีการโฆษณาผ่านวิทยุในเครือ อสมท เช่น FM95 MHz FM 100.5 MHz ระบุข้อความว่า "แพทย์ได้ออกมารับรอง ว่า การใช้แร่ใยหินไม่เป็นอันตราย และทนทาน" ซึ่งไม่เป็นความจริง และถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
ด้าน รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่าแร่ใยหินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งยืนยันได้จากงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก และมีประเทศที่หยุดนำเข้าแร่ใยหินแล้วเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก และว่า ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินในประเทศไทยแล้ว 3 ราย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องระบุในฉลากว่า "ระวังอันตราย สินค้านี้ มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด" ดังนั้น การโฆษณาว่าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จแก่ผู้บริโภค และจำเป็นต้องยุติการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวรวมทั้งต้องโฆษณาแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องด้วย
"ศาลปกครองเคยยกฟ้องกรณีที่บริษัทบางแห่งยื่นคัดค้านการออกคำสั่งให้ติดฉลากของ สคบ.เนื่องจากการทำฉลากดังกล่าวมีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนจากทั้งองค์การอนามัยโลก และรายงานทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ และประเทศไทย ซึ่งโฆษณาแร่ใยหินดังกล่าว ยังมีความผิดปกติคือ ไม่มีชื่อผู้โฆษณา และโน้มน้าวให้ประชาชนหลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงได้ยื่นหนังสือถึง อสมท ในฐานะสื่อของรัฐ จำเป็นต้องระงับโฆษณาดังกล่าวทันทีและรับผิดชอบต่อสังคม" นายวิทยากล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 ธันวาคม 2555
- 10 views