เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม  ได้เข้าพบคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีองค์การเภสัชกรรมถูกกล่าวหาเรื่องยาพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ว่าไม่เป็นความจริง โดยได้ยื่นสมุดปกขาวชี้แจง

ประธานสหภาพ อภ.กล่าวชี้แจงโดยละเอียดว่าองค์การเภสัชกรรมได้มีการตรวจสอบยาพาราเซทตามอลตามหลักวิชาการและเมื่อมีการพบการปนเปื้อนก็สามารถส่งคืนได้ซึ่งเป็นหลักทั่วไป 
การคัดเลือกแหล่งซื้อที่กล่าวหาว่ามีบริษัทเดียวก็เป็นไปตามขั้นตอนและการสำรองยาเนื่องมาจากการรองรับการขยายการผลิต  ส่วนการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกก็ได้กล่าวถึงการดำเนินการตามขั้นตอนและปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนการจ้างออกแบบและการประกวดราคาซึ่งเป็นไปอย่างถูกต้อง

ประธานสหภาพ อภ.ยังได้ตั้งข้อสังเกตกับสภาที่ปรึกษาฯถามไปยังรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า  รัฐมนตรีเคยสั่งให้สำรองน้ำเกลือหลังน้ำท่วม 7 ล้านถุงเหลืออยู่ 6 ล้านถุงใครจะรับผิดชอบ นอกจากนี้ทำไมจึงไม่ยอมอนุมัติเครื่องจักรที่ต้องใช้ผลิตยาจำนวนมากทำให้เสียโอกาส  พร้อมตั้งข้อสังเกตที่ชวนสงสัยว่ามีแผนของใครหรือไม่ที่จะแปรรูปองค์การให้เป็นรัฐวิสหากิจมุ่งค้ากำไรไม่ทำหน้าที่วิจัยและเป็นคลังยาของประเทศ "มีความพยายามทำให้องค์การเภสัชกรรมง่อยเปลี้ยขาดประสิทธิภาพในการผลิตยาใหม่ ทั้งที่ประสิทธิภาพของ องค์การที่เพิ่มขึ้นจะสามารถลดการผูกขาดของบริษัทยาต่างชาติและเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนได้อย่างดี  จึงขอให้สภาที่ปรึกษาฯศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าให้สนับสนุนการทำงานวิจัยและผลิตยาเพื่อประชาชนและอย่าให้มีกลุ่มคนที่ไม่หวังดีมาทำลายบทบาทขององค์การเภสัชกรรม"

นายสุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับเรื่องและยืนยันที่จะศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพื่อที่จะให้องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทเป็นเสาหลักเพื่อความมั่นคงของประเทศด้านยา ส่วนข้อกล่าวหาที่มีนั้นจะขอเวลาศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการนำเสนอว่ามีข้อเท็จจริงประการใดโดยคาดว่าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ตลอดจนการศึกษาข้อมูลที่องค์การเภสัชกรรม โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานที่จะได้ข้อมูลเพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล

ทางด้านรศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) กล่าวว่า ตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ไปยื่นหนังสือสมุดปกขาว ต่อสภาที่ปรึกษาฯ ชี้แจงเรื่องข้อเท็จจริงต่อกรณีที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาพาราปนเปื้อนและการสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้าว่า  จากข้อมูลที่สหภาพองค์การเภสัชกรรมนำมาให้ ทำให้การมองภาพองค์การเภสัชกรรมแตกต่างจากบรรดาข่าวที่ออกมาจากภาครัฐ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และ กรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างมาก หลายเรื่องน่าจะมีการศึกษาต่อไปว่าจะทำอย่างไร เช่น การที่ผู้มีอำนาจสั่งให้ซื้อน้ำเกลือแล้วยังค้างอยู่ถึง 6 ล้านถุง หรือ การไม่ให้ซื้อเครื่องจักรตอกยาที่มีปริมาณมากเพื่อเร่งผลิตยา

รศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า การตรวจสอบองค์กรอิสระและรัฐวิสาหากิจระยะหลังๆ หากทำได้ นักการเมืองมักจะทำในสี่ลักษณะ คือ หนึ่ง ไปถึงปลดเลย สอง ให้ร้ายแล้วปลด สาม รอจังหวะแบบค่อยเป็นค่อยไป และ สี่ คือ ร่วมมือกันทำงาน ตามกำหนดสัญญาจ้าง ซึ่งแบบสุดท้าย เป็นที่คาดหวังเพราะจะทำให้องค์กรได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่โดยทั่วไปมักจะเลือกหนึ่งในสามแบบแรก  สำหรับเรื่ององค์การเภสัชกรรม  ไม่ทราบว่ากรณีหมอวิทิตสุดท้ายจะเป็นประการใดแต่บอกได้ว่าน่าห่วง เนื่องจากมีการให้ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์มาโดยตลอดจนอาจจะทำให้สังคมเกิดข้อครหาได้ว่าผู้กล่าวหามีธงมาก่อน  การทำเช่นนี้นำไปสู่ข้อสงสัยว่ามีวัตถุประสงค์ที่มากกว่าการบริหารจัดการเชิงประสิทธิภาพเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุผลพอ เนื่องจาก นพ วิทิต ตอบโจทย์ทั้งด้านการทำรายได้ การรักษาพันธกิจความมั่นคงด้านยาและการเข้าถึงยา ตลอดจนการรักษาราคายาได้ดีไม่แพงเกินไปจนประชาชนมีที่พึ่ง ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมได้ดีมีประสิทธิภาพมาก

"การส่งเรื่องฟ้องดีเอสไอ หรือ ส่งต่อ ปปช ระยะหลังๆดูจะเป็นการเฟ้อและอาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ถือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาตายไปก่อนแล้วจะฟื้นหรือไม่เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกกล่าวหาเพราะฝ่ายที่กล่าวหาไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ถือเป็นเรื่องน่ากลัวมากว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐต้องสยบยอมต่ออำนาจ  ทั้งนี้การตรวจสอบที่ดีต้องให้ภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจรัฐร่วมกันมาตรวจสอบ โดยอาจให้ผู้ที่มาจากองค์กรภายนอก ส่วนการส่งเรื่องให้ ปปช ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องออกข่าวมากมายเช่นที่ทำอยู่ ทั้งนี้ อาจส่งให้เครือข่ายต้านคอรัปชั่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ หรือ องค์กรอื่นๆไปช่วยดูเพื่อความโปร่งใสและลดครหาว่าการกล่าวหามีผลประโยชน์ในแง่ที่จะนำผู้บริหารของตนมาแทน  โดยส่วนตัวอยากเห็นภาคประชาชนมาร่วมสอดส่องความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะมีขึ้นที่องค์เภสัชกรรมก่อนที่ฝ่ายอำนาจจะมีการดำเนินการ “ป้ายแล้วปลด” นอกจากนี้สภาที่ปรึกษาฯ โดย คณะทำงานคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค จะทำการศึกษาเชิงนโยบายเรื่อง องค์การเภสัชกรรมในฐานะที่เป็นที่พึ่งของสังคมด้านยา เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลต่อไป" รศ.ดร.วิทยา กล่าว

เอกสารประกอบ