คนไทยยุคใหม่แก่ช้าลงและมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การวางแผนประชากรที่ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรลดลง ทำให้เด็กเยาวชนคนหนุ่มสาวมีสัดส่วนลดลง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เคยมี 8% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2543 จะเพิ่มเท่าตัวเป็น 16% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2563 (อีก 7 ปีข้างหน้า) คนวัยทำงานจะมีสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดลดลง ต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศสูงขึ้น เมื่อคนทำงานมีสัดส่วนลดลง จะทำให้ผลผลิตและบริการลดลงได้ (ยกเว้นจะเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอย่างมาก) รัฐบาลอาจเก็บภาษีได้ลดลง จะดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศได้ลำบากขึ้น ภาครัฐจึงควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้แต่เนิ่น ๆ
ข้อเสนอให้มีการเลื่อนอายุเกษียณข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานทั่วไป ให้สูงขึ้นจาก 60 ปี เป็น 65 หรือแม้แต่ 70 ปี ในสาขาขาดแคลน เป็นข้อเสนอที่มีเหตุผล ในแง่ที่ว่าสำหรับคนในวัย 60-70 ปี ที่มีความรู้ประสบการณ์รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ยังคงสามารถทำงานได้ต่อไปอยู่ โดยเฉพาะงานที่ใช้แรงงานสมองมากกว่าแรงงานทางร่างกาย ทั้งคนที่ยังทำงานได้ถ้าเขาได้ทำงานต่อไป จะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิต (และสุขภาพกาย) ของพวกเขา มากกว่าการที่สังคมจะทอดทิ้งให้ผู้อาวุโสอยู่ว่างๆ โดยไม่ค่อยมีอะไรทำ
แต่เรื่องการเลื่อนอายุเกษียณน่าจะพิจารณาอย่างยืดหยุ่น แล้วแต่หน่วยงาน ลักษณะวิชาชีพ หรือเป็นกรณีๆ ไป เช่น ในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน หรืองานที่คนสูงอายุที่มีการศึกษาสูงยังสามารถทำได้ดี ไม่ควรเปลี่ยนเป็นกฎทั่วไปสำหรับข้าราชการหรือพนักงานทุกคน เพราะลักษณะงานบางอย่าง เช่น การบริหารจัดการ ถ้าได้ผู้นำรุ่นใหม่ๆ ที่มีอาวุโสน้อยกว่า 60 ปีลงมาก็น่าจะมีส่วนดีกว่า โดยให้ผู้อาวุโสไปเป็นที่ปรึกษาหรือทำงานเพียงบางเวลา ดังนั้นจึงควรปรับปรุงระเบียบวิธีการจ้างงานอย่างยืดหยุ่น เช่นการจ้างการทำงานบางเวลา (หรือบางวัน) โดยคำนึงถึงและประโยชน์ของทุกฝ่าย คนสูงอายุโดยเฉพาะประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับ
แต่คนส่วนใหญ่คือ เกษตรกร แรงงานเบ็ดเตล็ด ผู้ประกอบการรายย่อย เป็นคนที่อยู่นอกระบบราชการ รัฐวิสาหกิจและการจ้างงานภาคเอกชน พวกเขาส่วนใหญ่มีทรัพย์สินและรายได้ต่ำ เมื่ออายุ 60-70 ปี วัยที่พวกเขาควรจะเกษียณหรือทำงานลดลงได้ พวกเขายังคงต้องทำงานต่อหรืออยู่อย่างลำบาก เพราะไม่มีบำเหน็จบำนาญสวัสดิการเหมือนคนกลุ่มแรก คนสูงอายุกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้คือ ผู้ซึ่งจะลำบากทั้งในทางเศรษฐกิจและทางจิตใจ
ในสมัยก่อนครอบครัวหรือลูกหลานยังเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุได้ แต่ในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม ลูกหลานแยกบ้านไปสร้างครอบครัวเดี่ยวในสังคมเมือง และต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ เลี้ยงตัวเองและลูกของตัวเองมากขึ้น จนไม่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจและเวลามากพอที่จะไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเหมือนในสมัยก่อน ชุมชนก็ถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมอย่างสุดโต่ง ไม่เข้มแข็งพอที่จะช่วยดูแลคนสูงอายุได้ รัฐบาลควรจะเตรียมการรับมือกับการดูแลผู้อาวุโสที่รายได้ต่ำอย่างถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง แทนที่จะใช้จ่ายเงินหาเสียงในโครงการประชานิยมต่างๆ อย่างไม่มีการวางแผนและการประเมินผลใดๆ
ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนสูงอายุคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินที่น้อยมาก ไม่พอยังชีพสำหรับคนสูงอายุที่รายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ สถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนสูงอายุของภาครัฐก็มีน้อยแห่งมาก และยังบริการได้ไม่มีคุณภาพนัก คนสูงอายุยังมีปัญหาร่างกายเสื่อมโทรมอ่อนแอ มีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องการวิตามิน เกลือแร่ ยา การดูแลรักษาเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลของรัฐขณะนี้มีงบประมาณ กำลังคน ไม่ค่อยพออยู่แล้ว ในอนาคตยิ่งต้องลำบากขึ้น รัฐบาลจะต้องคิดวางแผนเตรียมการเรื่องนี้ไว้เนิ่นๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วมาตามแก้ภายหลัง ซึ่งมักจะแก้ได้น้อย เพราะติดระเบียบ กำลังคน ขาดงบประมาณ ฯลฯ
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างกว้างขวางคือ รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพตนเองให้ดีขึ้น เช่น กินอาหารมีคุณค่าครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร (รวมทั้งเหล้า บุหรี่) ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้พอเพียง หลีกเลี่ยงการรับมลภาวะ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก การแพทย์และสาธารณสุขทางเลือก ฯลฯ เป็นการป้องกันไว้ดีกว่าการตามรักษา และจะใช้งบประมาณน้อยกว่าด้วย เพียงแต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ความฉลาด การมองการณ์ไกล และการขยันทำงาน ให้การศึกษาและการสนับสนุนช่วยเหลือภาคประชาชนเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ควรทำข้อต่อไปคือ การให้การศึกษาอบรมคนวัยกลางคนและคนสูงอายุให้มีความรู้ทักษะใหม่ พอที่จะทำงานบางอย่างเลี้ยงชีพตนเองได้ ส่งเสริมเรื่องการออม ระบบประกันสังคมสำหรับเกษตรกร แรงงานเบ็ดเตล็ด และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบให้ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีนายจ้างที่จะช่วยจ่ายเงินประกันสังคมสมทบ และพวกเขาก็ได้ทำงานให้ประเทศ ได้เสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้รัฐเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลควรช่วยตอบแทนพลเมืองอาวุโส รวมทั้งควรลดหย่อนหรือเลิกเก็บภาษีรายได้ภาษีเงินฝากธนาคาร ฯลฯ สำหรับคนสูงอายุที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้สูงอายุ ลดราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นบางอย่าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ฯลฯ ให้คนสูงอายุ
นอกจากรัฐจะจัดสวัสดิการแบบบ้านพักคนสูงอายุ โดยหน่วยราชการเองแล้ว ควรส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น มูลนิธิ หรือแม้แต่ภาคเอกชนทำโครงการทำนองนี้ด้วย โดยรัฐบาลอาจให้เงินอุดหนุนผู้สูงอายุโดยตรง และดูแลเรื่องคุณภาพบ้านพักผู้สูงอายุ ถ้าส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น (เช่นปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ปฏิรูประบบสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ) ชุมชนจะมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีกว่ารัฐบาลกลาง รวมทั้งควรปฏิรูประบบการจ้างงานให้ผู้สูงอายุได้ทำงานบางอย่างบางเวลา ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้สูงอายุเองและชุมชนได้ เช่นการดูแล การสอนเด็กๆ การถ่ายทอดเรื่องอาชีพงานฝีมือ ฯลฯ จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ชุมชน สังคม จะได้ประโยชน์จากคนสูงอายุที่มีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญด้านต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น
ผู้เขียน : รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต email : wit139@hotmail.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ธันวาคม 2555
- 46 views