ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ สสส. เผยผลวิจัย พร้อมเปิดตัวหนังสือ “เสพติดพนัน: ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” ชี้ คนติดการพนันแต่ละคนสร้างผลเสียหายให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน ราว 10-17 คน สังคมไทยไม่รู้ “การติดพนัน” เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่ต้องรักษา แนะรัฐตั้งสถาบันวิจัย เผยแพร่ความรู้ เยียวยา และป้องกันการติดพนัน โดยเฉพาะในเยาวชนอนาคตของชาติซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสุด

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ฃศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการพร้อมเปิดตัวหนังสือ “เสพติดพนัน: ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีเปิด

รศ.วิทยากร เชียงกูล

รศ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของผลงานวิจัยและหนังสือ “เสพติดพนัน : ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” เปิดเผยว่า ผลงานนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จัดทำขึ้นโดยหวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาจากการพนัน อันจะนำไปสู่การร่วมมือในการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันในสังคมไทย จากการวิจัยเชิงเอกสารแล้วสรุปองค์ความรู้ ทำให้เห็นถึงความใหญ่โตของปัญหาจากการพนัน เข้าใจสาเหตุและผลกระทบ และพบว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ว่า “การติดพนัน” เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ในส่วนสุดท้ายได้นำเสนอแนวทางป้องกัน วิธีการบำบัดคนติดการพนัน และจัดทำข้อเสนอสำหรับประเทศไทยด้วย

ผลการวิจัยพบว่า ผลเสียหายของการติดพนันมีทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม อาทิ ขาดประสิทธิภาพในการเรียน ทำงาน ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว ปัญหายักยอก ฉ้อโกง อาชญากรรม รวมไปถึงปัญหาที่เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ติดเหล้าและสารเสพติดอื่น ๆ มีการวิจัยระบุว่า ผลเสียหายทางอ้อมที่เกิดกับคนเสพติดการพนันคือ การเพิ่มความเสี่ยงในการติดเหล้าและสารเสพติดอื่นที่มีผลเสียต่อสุขภาพ และคนเสพติดการพนันจะมีนิโคตินในร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งการเสพติดซ้ำซ้อนจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากขึ้นไปอีก

ด้านสุขภาพจิต คนติดพนันจะมีปัญหาความผิดปกติด้านอารมณ์ นักวิจัยพบว่า คนติดพนันเป็นโรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียวถึง 70% และความผิดปกติด้านอารมณ์รุนแรงสลับไปมา 2 ขั้ว 30% ผลเสียหายจากการติดพนันอย่างหนักคือ การคิดเรื่องฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตาย ราว 17-24% ของคนติดพนันอย่างหนักมีการพยายามฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งในชีวิต ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากเล่นสูญเสียเงินจำนวนมาก

และผลเสียด้านสุขภาพจิตอีกเรื่องคือ การสร้างและคงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการรู้คิดที่บิดเบือน เกี่ยวกับการเล่นการพนัน เช่น การคิดว่าตัวเองมีทักษะการเล่นพนันแบบเอาชนะได้ เชื่อว่าโอกาสแพ้ชนะมี 50-50 ทั้งที่ความจริงแล้วการพนันหลายอย่าง การชนะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าการแพ้หลายเท่ามาก ฯลฯ

ส่วนผลเสียหายด้านเศรษฐกิจสังคม คณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการพนันแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่า ความเสียหายทางด้านการเงิน ค่าใช้จ่ายทางการกฎหมาย และการสูญเสียผลิตภาพของการทำงานอันเนื่องมาจากการติดการพนันของชาวอเมริกัน มีมูลค่าราว 5,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และคนติดการพนันแต่ละคนสร้างผลเสียหายให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน ราว 10-17 คน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการติดพนันมีตั้งแต่

1) ปัจจัยทางกายภาพ สมองและจิตใจ คนที่มีบุคลิกหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ชอบเสี่ยง คนที่มีปัญหาความผิดปกติด้านจิตใจ อารมณ์ ความเครียด ซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม ขาดความภูมิใจในตัวเอง

2) ครอบครัว สภาพแวดล้อม เช่น ชีวิตในวัยเด็กพ่อแม่ติดการพนัน ติดสารเสพติด ยากจน การศึกษาน้อย ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีเพียงพอ มีญาติพี่น้องหรือคนชุมชนเล่นการพนัน

3) การรู้คิด ทัศนคติ การหลงผิดเรื่องการพนัน การมีความหวังแบบผิดๆ อยากรวยเร็ว คิดว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม-ความเชื่อเรื่องโชคลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์

รศ.วิทยากร กล่าวด้วยว่า การตระหนักถึงกลุ่มและปัจจัยเสี่ยงของคนติดพนันที่มีลักษณะแตกต่างกันในบางแง่มุม จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุและที่มาของแนวทางป้องกันและการบำบัดคนติดพนันได้รอบด้านมากขึ้น สำหรับแนวทางการป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด เนื่องจากสมองวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ ความสามารถในการรู้คิดยังมีจำกัด ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะคิดบิดเบือนเกี่ยวกับเรื่องการพนันได้มากกว่าผู้ใหญ่ สมองส่วนหน้าเกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจของกลุ่มวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ ขณะที่สมองส่วนหลังเกี่ยวกับความอยากพัฒนาไปแล้ว ทำให้วัยรุ่นชอบเสี่ยง ชอบสนองความพอใจและผลตอบแทนระยะสั้นมากกว่าที่จะคำนึงถึงผลเสียหายในระยะยาว และพบว่าวัยรุ่นมีสัดส่วนเล่นและติดการพนันต่อประชากรวัยเดียวกัน 4-8% ซึ่งสูงกว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ 1-2 เท่าตัว

“แนวทางการป้องกันในหมู่เด็กเยาวชน เช่น การอธิบายโดยใช้สื่อ สัมมนาพูดคุยให้เข้าใจเรื่องการหลงผิดเรื่องการพนัน ว่าจริง ๆ แล้วมีความเสี่ยงมาก โอกาสชนะมีความเป็นไปได้น้อยมาก การส่งเสริมพัฒนาจิตวิทยาทางบวก ทำให้มีความเข้มแข็ง รู้จักดูแลควบคุมความคิด จิตใจ อารมณ์ แก้ปัญหาเป็น และการให้คำปรึกษาโดยนักบำบัด ศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ การบำบัดเยียวยาโดยนักจิตวิทยา การบำบัดแนวพฤติกรรมการรู้คิด (Cognitive Behavioral Therapy) จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดการรับรู้ที่บิดเบือน เป็นการคิดอย่างมีเหตุผลและสมจริง มองโลกในแง่บวก”

รศ.วิทยากร กล่าวในตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาในระดับประเทศ ควรมีการตั้งสถาบันเพื่อวิจัยเผยแพร่ความรู้ในทางป้องกันและเยียวยาปัญหาการเสพติดการพนัน ที่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปัญหาของคนติดพนันคือ มักไม่รู้ตัว ไม่ยอมรับและปกปิดครอบครัว จนเปิดปัญหาหนักแล้วจึงจะยอมรับและยอมไปรับการบำบัด ซึ่งโดยทั่วไปผู้เข้ารับการบำบัดมีโอกาสได้รับการฟื้นฟู ลด หรือ เลิกเล่นการพนันได้

หมายเหตุ

หนังสือ “เสพติดพนัน : ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” โดย วิทยากร เชียงกูล

งานเขียนสะท้อนปัญหาการพนันครั้งแรก ที่นำเสนอแบบเจาะลึก เล่าเรื่องเข้าใจง่าย ด้วยภาษาที่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา รวบรวมแนวคิด ทฤษฎี ประสบการณ์และงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้อ่านและสังคมฉุกคิดว่า ...คุณกำลังเสพติดการพนันหรือไม่ ? ...การติดการพนันเป็นอาการป่วยที่ต้องการการรักษา !! ...แล้วเราจะรักษาเยียวยาหรือเลิกการเสพติดพนันได้อย่างไร ? หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ

ดาวน์โหลดหนังสือ