ถกเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลุ่มประเทศอาเซียน+3 ตั้งเป้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมดูแนวทางระบบหลักประกันของแดนอาทิตย์อุทัย หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่โรงแรมสีลมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (the ASEAN plus Three UHC Network) ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานด้านระบบสุขภาพของไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนหน่วยงานด้านสาธารณสุขของกลุ่มประเทศอาเซียน+3
นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นเป้าหมายระดับโลก โดยมติของสมัชชาสหประชาชาติด้านนโยบายต่างประเทศและสาธารณสุข ได้กำหนดให้การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ควรดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศเพื่อมีหลักประกันสุขภาพและมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ที่มีประสิทธิภาพ เน้นการปกป้องคนจนและผู้ยากไร้ และหลายประเทศมีแนวโน้มจะทำระบบหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศนั้น เช่น เวียดนาม มองโกเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กาน่า อินเดีย เป็นต้น
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอ และข้อสรุป เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานโครงการเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มอาเซียน+3 ตลอดจนบทบาทในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอาเซียน ซึ่งได้มีการระดมสมองเพื่อการสร้างเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ในประเด็นเป้าหมายของเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บทบาทและการสนับสนุนภายในกลุ่ม เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากประเทศที่มีการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเข้มแข็ง เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีหลักประกันสุขภาพมากว่า 50 ปี และเป็นประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแนวโน้มของไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ดังนั้นการเรียนรู้การจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญกับไทยอย่างมาก
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.มีประสบการณ์การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ และระบบการเงินการคลังต่างๆ ซึ่งไทยเองก็มีความพร้อมในการถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างหลักประกันสุขภาพ การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผ่านมาได้มีการประชุมเตรียมการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากองค์กรระหว่างประเทศ และภายในประเทศทั้งหมดเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามร่วมกัน
ที่มา : www.manager.co.th
- 3 views