นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังร่วมประชุมโครงการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพกลุ่มบุคคลที่ยังมีปัญหาเรื่องของสถานะและสิทธิ ว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23มีนาคม 2553ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนประมาณ 4 แสนกว่าคน ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2556กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณดูแลจำนวน 461,974 คน เป็นเงิน 863,785,100 บาท เฉลี่ยค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,869.77 บาท อย่างไรก็ตามยังมีคนไร้รัฐที่อยู่บนแผ่นดินไทยที่เรียกว่า กลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ กลุ่มคนที่เลขบัตรประจำตัวบุคคล ขึ้นต้นด้วยเลข 0 จำนวนประมาณ 210,000คน ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ฐานะยากจน และอาศัยบนพื้นที่สูงหรือตามชายแดน เมื่อเจ็บป่วยสถานพยาบาลจะรับผิดชอบค่ารักษาเป็นส่วนใหญ่

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการ สร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทั้ง2 กลุ่มที่กล่าวมา ในปี 2556 นี้กระทรวงฯมีนโยบายขับเคลื่อน 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคือการอนุญาตให้บุคคลผู้ที่มีสิทธิในกองทุนฯ ที่มีบัตรประจำตัวบุคคลขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8 ซึ่งได้รับสิทธิและได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครอง ให้ออกนอกภูมิลำเนาเพื่อไปทำงานหรือศึกษาต่อเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 6เดือนขึ้นไป ในระยะสั้นนี้ให้สามารถย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลหลักตามที่อยู่จริงหรือที่ทำงานจริงได้หากไม่ขัดต่อกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิย้ายสถานพยาบาลหลักตามที่อยู่จริง

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนากลไกการบริหารจัดการ ให้สามารถใช้สิทธิข้ามเขตได้ ได้แก่กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ส่วนกรณีเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกให้เป็นดุลยพินิจของโรงพยาบาล และให้โรงพยาบาลรายงานการรักษานอกภูมิลำเนามาที่กองทุนกลาง คือที่กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในทุกกรณี เพื่อจัดสรรเงินคืนให้ และในระยะยาว จะหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลตามที่อยู่จริงหรือที่ทำงานจริงได้ต่อไป

ประการที่สอง เรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มบุคคล ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือเป็นบุคคลที่มีบัตรประจำตัวบุคคล ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งมีประมาณ 210,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนในสังคมไทย แต่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยจะเสนอให้ตั้งเป็นกองทุนสร้างหลักประกันสุขภาพขึ้น ประมาณการใช้งบประมาณเบื้องต้นหัวละ 1,300บาทเท่าต่างด้าว รวม 273ล้านบาทต่อปี และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลกองทุนและใช้กลไกบริหารเช่นเดียวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยจะเสนอรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา หากไม่สร้างหลักประกันสุขภาพกับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างน้อย 3ประการคือ 1.ทำให้การควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคระบาดตามแนวชายแดนทำได้ยาก เพราะเมื่อไม่มีหลักประกันสุขภาพ ผู้ป่วยจะไปรับบริการช้า การควบคุมโรคจึงล่าช้าด้วย 2.เป็นภาระด้านการรักษาพยาบาลของสถานบริการตามหลักมนุษยธรรม ไม่มีการชดเชยจากเงินงบประมาณหรือหน่วยงานใดๆ ซึ่งจะเป็นภาระของโรงพยาบาลตามแนวชายแดนที่สถานะทางการเงินส่วนใหญ่ไม่ค่อยดีและ3.การรักษาและดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ จะมีความซับซ้อน มีภาวะแทรกซ้อนสูง จากการเข้าถึงบริการล่าช้าเพราะไม่มีหลักประกันสุขภาพ นายแพทย์ณรงค์กล่าว