'เผดิมชัย'เผยตั้งเป้าปี'56 ดึง'แรงงานนอกระบบ' 2 แสนคนเข้าประกันสังคม ม.40 สั่ง สปส.ทำตัวเลขขอสนับสนุนจากรัฐบาลจ่ายสมทบ
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมในโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารประกันสังคม และสภาองค์การนายจ้าง/ลูกจ้างด้านการบริหารตลาดประกันสังคม มาตรา 40 ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร ผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ฯลฯ มีหลักประกันในการดำรงชีวิต ด้วยการเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนแล้วกว่า 1.2 ล้านคน และกระทรวงแรงงานตั้งเป้าจะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 40 เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคน ซึ่งจะทำให้ในปี 2556 มีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตน รวม 1.4 ล้านคน
"ผมได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)คำนวณตัวเลขว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใดในปีหน้า เพื่อดำเนินการประกันสังคม มาตรา 40 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบที่รัฐบาลจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 40 ตามทางเลือกที่ผู้ประกันตนสมัครไว้ และ 2.งบที่รัฐบาลจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบและงบประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบในจังหวัดต่างๆ เข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 40 โดยผมพร้อมจะไปเจรจากับสำนักงบประมาณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อของบจากรัฐบาลมาสนับสนุน" นายเผดิมชัยกล่าว
ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสปส.กล่าวว่า เบื้องต้น สปส.ได้คำนวณงบดำเนินการประกันสังคม มาตรา 40 ที่จะต้องใช้ในปี 2556 คาดว่าประมาณ 870 ล้านบาท แยกเป็นงบเงินสมทบที่รัฐบาลต้องร่วมจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 1.4 ล้านคน ประมาณ 840 ล้านบาท และงบประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ สปส.จะเร่งสรุปข้อมูลงบประมาณและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อให้พิจารณาเสนอของบกลางจากรัฐบาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานนอกระบบสามารถเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 40 ได้ตามความสมัครใจ โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท รัฐบาลจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี 2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี 3.ค่าทำศพกรณีตาย 20,000 บาท และทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลจ่าย 50 บาท นอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ใน 3 กรณีข้างต้นแล้ว ยังเพิ่มอีก 1 กรณี คือ เงินบำเหน็จชราภาพจากเงินที่ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน พร้อมดอกผล
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 ธันวาคม 2555
- 4 views