สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดเผยเด็กทารกไทยพิการแต่กำเนิด 4 หมื่นรายต่อปี เหตุสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมและโภชนาการ จี้รัฐบรรจุ โฟเลท ไอโอดีน เหล็ก เข้า สปสช.ให้ประชาชนโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์เข้าถึง
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) แถลงข่าว "ผนึกกำลังหยุดความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย" จัดโดยสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า แต่ละปีพบเด็กทารกที่พิการตั้งแต่กำเนิดปีละ 24,000-40,000 คน จากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโภชนาการ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ปัญหาเรื่องเด็กพิการแต่กำเนิดที่ต้องเร่งผลักดัน แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง คือ 1.รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายสร้างระบบดูแลรักษาแบบองค์รวม 2.ให้ความรู้ด้านการป้องกันเพื่อลดอุบัติการณ์ 3.บรรจุ Triferdine ซึ่งเป็นยาเม็ดเสริมอาหาร ประ กอบด้วยโฟเลท ไอโอดีน และธาตุเหล็ก ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาดังกล่าวและกรมอนามัยแจกจ่ายให้โรงพยาบาลต่างๆ แต่ปรากฏว่าแพทย์ไม่กล้าใช้เนื่องจากยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 4.สร้างเครือข่ายระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง
"อยากให้รัฐมีการผลักดันเรื่องการให้สารโฟเลท ไอโอดีน และธาตุเหล็กแก่หญิงตั้งครรภ์อย่างจริงจัง เพราะเป็นสารที่สำคัญในการสร้างตัวอ่อน จะให้ความสำคัญเพียงสารตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ โดยเฉพาะโฟเลทมีการวิจัยยืนยันว่าสามารถช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ถึงร้อยละ 50 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ได้มีการเสริมสารโฟเลทในขนมปัง เค้ก หรืออาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชากรทุกคนได้รับสารโฟเลทด้วยแต่เมืองไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น" ศ.พญ.พรสวรรค์กล่าว
ศ.พญ.พรสวรรค์กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า จึงร่วมกันจัดทำคู่มือคัดกรอง ป้องกันความพิการใน 5 กลุ่มโรคที่พบบ่อย ได้แก่ 1.อาการดาวน์ซินโดรม 2.หลอดประสาทไม่ปิด 3.ปากแหว่งเพดานโหว่ 4.แขนขาพิการแต่กำเนิด และ 5.กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ คู่มือจะนำไปอบรมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และชุมชนใน 22 จังหวัด ตั้งแต่ป้องกันปัจจัยเสี่ยง อาทิ การกินยาบางชนิด เช่น ยาโรคลมชัก ยารักษาสิว จะรบกวนการสร้างตัวอ่อนทำให้เกิดโรคหลอดประสาทไม่ปิด ซึ่งมีอาการตั้งแต่กระดูกสันหลังโหว่ เนื้อสมองยื่น รุนแรงไปจนถึงไร้กะโหลกศีรษะ และเสียชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันได้ด้วยโภชนาการ โดยเฉพาะการกินโฟเลท ซึ่งมีในผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 ธันวาคม 2555
- 10 views