นส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน เปิดเผยว่าเพิ่งได้รับเอกสารวาระการประชุมบอร์ดที่จะมีขึ้นในวันที่  3 ธค.นี้ รู้สึกแปลกใจที่มีมือดีสั่งให้บรรจุวาระเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน โดยล๊อกมติไว้แล้วให้เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการสปสช.อีก 2 อัตราเพื่อดูเรื่องการเบิกจ่ายเงินกองทุนโดยเฉพาะ และงานต่างประเทศ ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าผู้มีอำนาจเตรียมส่งเด็กในสังกัดการเมืองเข้าล้วงลูกการบริหารเงินกองทุนฯของ สปสช.  แม้จะขัดต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้ รมว.สธ.และบอร์ดมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทาง และกำกับการบริหารงานของสปสช.เท่านั้น ไม่ให้เข้าไปยุ่งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายภายในสำนักงานเหมือนที่นักการเมืองที่มีอำนาจชอบทำกันในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

นางสาวบุญยืน กล่าวว่า ที่ผ่านมาบอร์ดสปสช. เพิ่งประชุมเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างสปสช.ใหม่ตามที่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เสนอ และมีมติไม่ให้มีการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการที่มีอยู่แล้ว 5 อัตรามากกว่ากระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลข้าราชการหลายแสนคนแต่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพียง 4 อัตราเท่านั้น แต่อยู่ๆกับสั่งให้บรรจุวาระเพื่อกลับมติใหม่แบบนี้ เป็นการจ้องจะยึดอำนาจ อยากจะบอกผู้มีอำนาจว่า นี่เป็นบอร์ดระดับประเทศที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน 48 ล้านคน ไม่ใช่บอร์ดของบริษัทเอกชนส่วนตัวหรือของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

“อยากเสนอให้ผู้มีอำนาจทบทวนความคิดที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอ่อนแอถอยหลังลงคลอง เพราะการส่งคนเข้าแทรกแซงการบริหารเงินกองทุน สปสช. จะกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยและจะได้รับการคัดค้านอย่างแน่นอน ควรเอาเวลาไปปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทุกฝ่ายกำลังเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินจากที่ได้งบเหมาจ่ายน้อยลง รวมทั้งแก้ไขปัญหาบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว จะดีกว่า” นางสาวบุญยืน กล่าว

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่าที่ผ่านมาชมรมแพทย์ชนบทและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เคยเปิดเผยว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์ รพ.เอกชน และบริษัทยาข้ามชาติมีแผน 4 ขั้นตอนจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพหรือทำให้เป็นระบบอนาถา ด้วยการเข้ายึดครองการกำหนดนโยบายของบอร์ด สปสช. แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเลขาธิการหรือแต่งตั้งรองเลขาธิการเพิ่มเพื่อดูแลการเบิกจ่ายเงินกองทุนจำนวนปีละกว่าแสนสามหมื่นล้านบาท  พร้อมกับจะยุบกองทุนย่อยต่างๆที่ทำให้ผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่นโรคมะเร็ง หัวใจ เอดส์ และโรคไตวายฯ สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และสุดท้ายตามแผนดังกล่าวจะโอนงบกองทุน สปสช.กลับกระทรวงสาธารณสุข เหมือนก่อนที่จะมีพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ทำให้การดูแลผู้ป่วยกลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ คนอนาถา เปิดทางให้คนพอมีฐานะไปใช้บริการที่ รพ.เอกชน แทน ทำให้ตลาดบริการทางการแพทย์ซึ่งมีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาทเป็นตลาดเสรีเอื้อต่อธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้น