เวทีถกแก้ กม.บัตรทอง ภาคี 7 สภาวิชาชีพ เสนอเพิ่มผู้แทนสภาวิชาชีพในบอร์ด สปสช. พร้อมตั้ง คกก.คุมการทำงานเลขาธิการและ สปสช. หนุนแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่าย ด้านภาคประชาสังคมย้ำแก้ กม.ต้องมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่ปกป้องประโยชน์ตนเอง ต้องจัดบริการสุขภาพครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ระบุชัดร่วมจ่ายผ่านภาษี ถ้าเพิ่มผู้แทนวิชาชีพในบอร์ด ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนภาค ปชช.ที่ปัจจุบันมีแค่ 5 คน ทั้งที่เป็นบอร์ดของประชาชนด้วย ขณะที่ สปสช.ขอแก้ไขมาตราที่เป็นปัญหา หลัง ม.44 ช่วยปลดล๊อค อนุ กก.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เตรียมสรุปประเด็นส่งบอร์ด สปสช. เสนอ สนช.ประกอบพิจารณาต่อไป
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ – น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมหารือประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้แทนหน่วยบริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชน เป็นต้น โดยต่างมีข้อเสนอและความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอประกอบการพิจารณา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า ภาคประชาชนได้เสนอแก้ไขเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นี้เป็นกฎหมายที่ประชาชน 9 หมื่นคนร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย จึงถือเป็นกฎหมายที่มีคุณค่าต่อประชาชนอย่างมาก ดังนั้นการแก้ไขต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่นำกฎหมายเข้า สนช.โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย ที่สำคัญภาคประชาชนยังคงยืนยันในเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บุคคล คือประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทย
พร้อมกันนี้ขอเสนอปรับแก้ เพิ่มเติม หรือยกเลิก อาทิ มาตรา 3 ซึ่งเป็นนิยามการบริการที่ให้การบริการสาธารณสุขครอบคลุมการบริการสุขภาพและการบริการสาธารณสุข มาตรา 5 ยกเลิกการเก็บเงินการเข้ารับบริการ ซึ่งหากมีการร่วมจ่ายให้พิจารณารูปแบบภาษีที่เป็นการจัดเก็บล่วงหน้า มาตรา 18 ระบุชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนให้ได้รับยา เวชภัณฑ์ และเสนอให้บอร์ดมีอำนาจจัดซื้อที่จำเป็นในระดับประเทศ มาตรา 41 ขยายการคุ้มครองเมื่อได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้รวมถึงผู้ให้บริการ เป็นต้น ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้แยกเงินเดือนนั้นไม่เห็นด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนได้
ด้าน พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการแพทยสภา ในฐานะตัวแทนภาคีสภาวิชาชีพ กล่าวว่า หลังจากที่มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ภาคีสภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด เห็นตรงกันว่าประชาชนคนไทยทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงต้องคงอยู่และควรได้รับการพัฒนาให้ยั่งยืง จึงได้พูดคุยเพื่อนำเสนอประเด็นที่ควรปรับแก้ไข เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
ประเด็นที่ภาคีสภาวิชาชีพเห็นควรปรับแก้ อาทิ มาตรา 3 ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข เน้นการจ่ายเงินเพื่อการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ มาตรา 5 กำหนดบุคคลที่มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข ให้เป็นตามตามเจตนารมณ์ของมาตรา 52 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 13 บอร์ด สปสช.ควรทบทวนจำนวนที่มาและวิธีการได้มาให้เหมาะสม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ทั้งผู้ให้บริการ ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาวิชาชีพ โดยขอเพิ่มผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้แทนสภากายภาพบำบัด และขอปรับแก้มาตรา 26-37 ทบทวนอำนาจหน้าที่สำนักงาน และอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการให้เหมาะสม ทบทวนคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นเลขาธิการให้มีความคล่องตัวในการสรรหาผู้ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ควรมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เลือกจากบอร์ด สปสช.ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือการปฏิบัติภารกิจของเลขาธิการและ สปสช. ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น เสนอให้ครอบคลุมการจ่ายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการและรับบริการ โดยให้ตัดมาตรา 42 ในการไล่เบี้ยออก รวมถึงให้มีการปรับแก้มาตรา 46 เพื่อให้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
ขณะที่ นายศุมล ศรีสุขวัฒนา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้รวบรวมอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่นิยามที่เป็นปัญหาจากกรณีถูกตีความเคร่งครัดที่จำกัดให้การบริการต้องเป็นไปโดยตรงเท่านั้น รวมถึงไม่สามารถจ่ายสนับสนุนการจัดบริการได้ การปรับปรุงที่มาและค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ การเพิ่มเติมองค์กรในการดำเนินงานเพื่อช่วยสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขโดยรับค่าใช้จ่ายกองทุน โดยข้อเสนอส่วนหนึ่งมาจากประกาศ ม.44 ที่เป็นคำสั่งชั่วคราวในการรอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ระบบเดินหน้าไปได้
ทั้งนี้ในช่วงของการเปิดอภิปรายได้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ซึ่ง นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตบอร์ด สปสช. กล่าวว่า จากข้อเสนอภาคีสภาวิชาชีพ ตามองค์ประกอบของบอร์ด สปสช. หากผู้แทนวิชาชีพเพิ่มขึ้น ต้องมีการเพิ่มในส่วนอื่นเช่นกัน และไม่เห็นด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการทำงานของเลขาธิการ และ สปสช. เพราะจะทำให้ขาดความอิสระในการทำงานและมีปัญหาได้ นอกจากนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแยกเงินเดือนเพราะเป็นแนวคิดที่ผิดหลักการ การรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายรายหัวนั้นเป็นแนวทางที่จะทำให้การปฏิรูประบบสาธารณสุขเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการกระจายบุคลากร
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า การแก้กฎหมายต้องมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่ปกป้องประโยชน์ตนเอง ซึ่งข้อเสนอเพิ่มสัดส่วนบอร์ด สปสช.ในส่วนวิชาชีพนั้น ต้องบอกว่าปัจจุบันเครือข่ายภาคประชาชนในระบบมี 9 ด้าน แต่ต้องคัดเลือกเข้าสู่บอร์ดเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบอร์ด 30 คน ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพถือเป็นกรรมการของประชาชน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นภาคประชาชนจะขอเสนอเพิ่มบอร์ดสัดส่วนภาคประชาชนให้ครบ 9 ด้าน จะได้หรือไม่ ส่วนข้อเสนอขอแยกเงินเดือนนั้นไม่ขอบอกว่าดีหรือไม่ แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาหมอกระจุกตัวในเมือง คนชนบทไม่มีหมอรักษา การแยกเงินเดือนจะแก้ไขเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือยิ่งทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายรายหัวช่วยลดความเหลื่อมล้ำหน่วยบริการลงได้ เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองไม่กล้ารับบุคลากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องคำนึงถึงงบเหมาจ่ายที่จำกัด ขณะเดียวกัทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก อย่าง รพ.ชุมแพ สามารถจ้างแพทย์เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้จากที่ระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้ามาถึงวันนี้ แม้เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน แต่ร้อยละ 90 สะท้อนว่าระบบสามารถเดินไปได้และไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่มีการตีความการดำเนินงานกองทุนตามกฎหมายที่แคบเกินไป
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะมีการรวบรวมและสรุปประเด็นนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช.พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อ สนช.ประกอบการพิจารณาต่อไป
- 6 views