รมช.สธ. เผยรอบ 10 ปีมานี้ ไทยเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆน้อย-ใหญ่ ทั้งน้ำท่วม สารเคมี ไฟไหม้ คลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหว รวมกว่า 30,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บกว่า 16,000 ราย เสียชีวิตกว่า 10,000 ราย ชี้แนวโน้มถี่ขึ้นจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เร่งวางมาตรการรับมือ โดยสร้างทีมแพทย์สนามฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว อีก 340 ทีม ในปี 2556 เพื่อลดความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2555) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 เรื่อง “การจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ที่โรงแรมโฆษะขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 6 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 และศูนย์อบรมและวิจัยสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยระดับภูมิภาค ระหว่างสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศ นำมาปรับใช้ในภาคปฏิบัติเพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยและการป้องกันผลกระทบต่างๆเช่นโรคระบาด หรือความพิการ ที่อาจเกิดตามมา
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 10 ปีมานี้ พบว่ามีเหตุเกิดขึ้นทั้งระดับเล็ก-ใหญ่ เช่นน้ำท่วม ไฟไหม้ คลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหว ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมประมาณ 30,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บประมาณ 16,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 46,000 ล้านบาท ซึ่งภัยที่คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นคือภัยที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หากไม่มีการติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านสาธารณสุข ทั้งการบาดเจ็บ การเสียชีวิต โรคระบาด ผลกระทบด้านจิตใจ ของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและบริเวณใกล้เคียงได้
ในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติและสภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉินปฏิบัติการประจำโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีทีมกู้ชีพฉุกเฉิน 11,138 ทีม ออกไปช่วยผู้บาดเจ็บลดความรุนแรงและการสูญเสียชีวิต ยังที่เกิดเหตุ และนำส่งรักษาต่อในโรงพยาบาล ในปี 2556 มีนโยบายพัฒนาชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว อีก 2 ชุด มาตรฐานระดับสากล คือทีมเมิร์ธ (MERT: Medical Emergency Response Team) ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการขนาดใหญ่ มีแพทย์เชี่ยวชาญ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สนับสนุนรวม 14-16 คน ที่มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัว ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ประสบภัย เมื่อได้รับการร้องขอหรือการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาภายใน 6-12 ชั่วโมง ขณะนี้มีแล้ว 13 ทีม จะเพิ่มเป็น 40 ทีม ครอบคลุมทุกจังหวัด ทีมนี้สามารถส่งไปปฏิบัติภารกิจช่วยในประเทศอาเซียนได้ 4 ทีม ด้วย
และเพิ่มทีมปฏิบัติการการแพทย์เคลื่อนที่เร็วเรียกว่าทีมดีแมท (DMAT :Disaster Medical Assistant Team) ในระดับอำเภอ จำนวน 300 ทีมหรือประมาณร้อยละ 40 ของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เป็นทีมปฏิบัติการขนาดเล็ก มีแพทย์ เจ้าหน้าที่ 4-5 คน ทั้ง 2 ทีมจะดูแลทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรคระบาด การดูแลสุขภาพจิต เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด สามารถดำรงชีวิตและช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เต้นท์สนาม เครื่องปั่นไฟ ถังน้ำ ฯลฯ ไปพร้อมกับทีม เพื่อเข้าไปในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ
- 8 views