ภายหลังจากที่รัฐบาลใช้นโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ไม่ให้มีอัตราการเติบโตเร็วเกินกว่า 3.8-4% ของจีดีพี จึงได้กำหนดมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศลง ทั้งในส่วนของระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศกว่า 48 ล้านคน โดยแช่แข็งอัตราเหมาจ่ายรายหัวไว้ที่ 2,755 บาท/คน/ปี เป็นเวลา 3 ปี ย่อมส่งผลกระทบกับสถานพยาบาลต่างๆ ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพการให้บริการกับผู้ป่วยได้
ล่าสุดคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพได้จัดสัมมนาเรื่อง "ชะตากรรมคนไทย หลังคุมค่าใช้จ่าย 30 บาท 3 ปี" เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "แนวทางการบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ" ตอนหนึ่งกว่า การจัดให้มีระบบดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น ที่ยังขาดระบบดูแล รวมถึงการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และครอบครัว ให้เกิดความครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้นายจ้างร่วมกับแรงงานมีส่วนในการรับผิดชอบ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับสถานประกอบการต่างๆ ก็ได้
อย่างไรก็ดี ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับแนวทางการบริหารด้านอื่นประกอบกัน เริ่มตั้งแต่ปรับโครงสร้างในเรื่องของระบบและวิธีการต่างๆ กำหนดแบ่งแยกหน้าที่อย่างชัดเจน พัฒนากำลังคนภาครัฐให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้น สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน จัดระบบบริการที่สามารถประหยัดกำลังคนได้ อาทิ รวมศูนย์คลังยาและการสั่งยา รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ เป็นต้น
ด้านดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้บริการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และแรงงานต่างด้าว ที่จะเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งต้องมีการศึกษารายละเอียดและรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจดึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวต่อไป
"เห็นด้วยกับแนวทางที่จะมีการลงทุนทางด้านสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ที่สุดก่อน"
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวเสนอแนะแนวทางการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนว่า การลดความเหลื่อมล้ำให้รองรับความแตกต่าง ระหว่างกลุ่มสิทธิ์ที่มีการร่วมจ่ายโดยไม่เท่ากันในลักษณะ "แตกต่างอย่างเป็นธรรม เหลื่อมกันอย่างมีนัย" ตามประเด็นร่วมจ่าย ความเสี่ยงสุขภาพของผู้ถือสิทธิ์รายกลุ่มประกัน นอกจากนี้การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน ควรเป็นไปในหลักการเพิ่มคุณภาพของกองทุนที่ด้อยกว่า
อย่างไรก็ดี ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของกรมบัญชีกลางที่ปรับลดสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่กำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายของสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการด้วยมาตรการรุนแรง และการควบคุมสิทธิ์ด้านรักษาพยาบาลข้าราชการเข้มข้น รวมทั้งการกำหนด 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาลควรเป็นแบบผ่อนปรนในการดำเนินการ พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดสรรงบลงทุนเครื่องมือและสิ่งก่อสร้างทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดและเสื่อมลงมากให้กับหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยในระบบเดิมซึ่งสูญเสียการพัฒนามาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา มีการรายงานถึงสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำไตรมาส 3 ปี 2555 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 จำนวน 832 หน่วย จาก 841 หน่วย คิดเป็น 98.92% ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงสิ้นไตรมาส 3 ผลประกอบการรวมมีแนวโน้มกำไรลดลงเป็นลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ไตรมาส 3 ที่มีกำไรภาพรวม 5,066 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 3 ปีนี้กำไรเพียง 733 ล้านบาท ลดลง 85.53%
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 พ.ย. 2555--
- 4 views