ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ และความปลอดภัยบนถนน กว่า 4,000 ชิ้น จากทั่วโลกถูกนำเสนอในงาน Safety 2012 world Conference ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเวลวิงตัน นิวซีแลนด์ เมื่อต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา
ไม่ใช่เพียงงานสัมมนาที่รวมผลงานวิชาการด้านความปลอดภัยเท่านั้นหากยังรวมถึงผู้เชี่ยวชาญ นักรณรงค์ ตำรวจ แพทย์ พยาบาล เครือข่ายประชาชนที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการบาดเจ็บทุกรูปแบบ หนึ่งในจำนวนนั้นมีศัลยกรรมแพทย์ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อลดอุบัติเหตุบนถนนมายาวนานกว่า 20 ปี อย่าง นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการอาวุโส และผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น
ความมุ่งมั่นที่ทำงานทั้งในเวทีระดับนานาชาติและการร่วมภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในทุกระดับทั้งตำรวจเพื่อทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ รวมไปถึงหน้าที่ของแพทย์ที่ยังคงเป็นแพทย์ศัลยกรรมผ่าตัดประจำโรงพยาบาลอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ด้วยการทำหน้าที่ซึ่งมากกว่าแพทย์ จากการภาคประชาชนและประสานส่วนราชการเพื่อทำงานป้องกันการสูญเสียทั้งในเรื่องการสวมหมวกกันน็อค เมาไม่ขับ รวมไปถึงงานวิชาการอื่นๆ ก็เพื่อสนับสนุนการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องจริงจังทำให้
นพ.วิทยา ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาปี 2555
ส่วนงานอุบัติเหตุที่รณรงค์ต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี แต่ในวันที่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นนั้น นพ.วิทยา บอกว่า การป้องกันอุบัติเหตุในวันนี้หากเทียบจากจุดเริ่มเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าดีขึ้นมากแต่ยังไม่ถือว่าดีที่สุดเพราะว่าอัตราการตายยังสูง และการสวมหมวกกันน็อคมีเพียงแค่ 40% เท่านั้น
"เราเริ่มรณรงค์ทำเรื่องหมวกกันน็อคกันมานานตั้งแต่ปี 2535 แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะดีขึ้น แต่มันน่าจะได้ดีกว่านี้ เพราะเราสูญเสียคนจำนวนมากจากอุบัติเหตุทั้งคนเก่งดีๆ เป็นเรื่องน่าเสียดาย"
ในปี 2535 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่า 8.9 หมื่นคน หรืออาจมากกว่านั้น เพราะว่าขณะนั้นระบบข้อมูลการบันทึกและการวินิจฉัยของแพทย์จากเวชระเบียนอาจจะไม่สมบูรณ์เพียงพอ จนทำให้ข้อมูลขาดหาย
ส่วนการใส่หมวกกันน็อคในขณะนั้นเรียกได้ว่าเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าขณะนั้นผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจกับการป้องกันอุบัติเหตุทำให้อุบัติเหตุกว่า 80% เกิดจากมอเตอร์ไซค์และเกือบทั้งหมดเกินกว่า 90% มีอุบัติเหตุที่บริเวณศีรษะ
"ตอนนั้นผมเป็นแพทย์ผ่าตัด รู้สึกได้ว่าความสูญเสียมากมายเหลือเกินจนผ่าตัดกันไม่ไหว แบบนี้สามารถป้องกันได้จึงได้ออกมาร่วมรณรงค์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุโดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลให้หันมาสวมหมวกกันน็อค"
ด้วยเห็นว่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แพทย์จากห้องผ่าตัดรายนี้จึงเดินออกมาร่วมกับภาคีภาคประชาชนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาร่วมกันรณรงค์ป้องกันก่อนความสูญเสียจะเกิดขึ้น
"ผมพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและเริ่มในพื้นที่แคบๆ ในโรงพยาบาล โดยเริ่มโครงการสวมหมวกกันน็อค 100% ในโรงพยาบาลโดยรณรงค์ต่อเนื่องประมาณ 2 ปี และที่สุดก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสวมหมวกกันน็อคระหว่างขับขี่มากขึ้นอุบัติเหตุน้อยลง"
หลังจากรณรงค์ในพื้นที่โรงพยาบาลได้ผลในระดับที่น่าพอใจ กระทั่งเริ่มขยายสู่ระดับจังหวัดขอนแก่นและขยายลงไปสู่ในระดับอำเภอและไต่ระดับขึ้นไปในระดับชาติเนื่องจากอัตราความสูญเสียอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากรถมอเตอร์ไซค์และบาดเจ็บที่ศีรษะเกือบ 100%
ด้วยปัญหาที่รุนแรงขึ้น ทำให้ในปี 2537 -2538 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นได้เสนอให้ประเทศไทยมีกฎหมายหมวกกันน็อคและทำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอมีกฎหมายหมวกกันน็อคกระทั่งไทยมีกฎหมายหมวกกันน็อคประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2539
"ถือว่าเร็วมากเพราะว่าประเทศในภูมิภาคแถบนี้ไม่มีกฎหมายหมวกกันน็อค เขมร เวียดนาม ลาว มาเลเซีย จึงถือว่าประเทศเราก้าวหน้ามากในเรื่องนี้"
แม้จะมีกฎหมายหมวกกันน็อคก่อนประเทศเพื่อนบ้าน แต่การดำเนินการควบคุมกันอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้น จนตัวเลขการสูญเสียจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2546 ในช่วงของ จาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านนี้ จึงเริ่มมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในช่วงนั้น
นพ.วิทยา บอกว่า กฎหมายหมวกกันน็อคผ่านมานานว่า10 ปีแต่ยังจุดอ่อนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจังและนโยบายส่วนกลางไม่ชัดเจน รวมไปถึงการกำกับติดตามทำให้การสวมหมวกกันน็อคมีน้อยเพียง 40% และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็ยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน
"ปัญหาของไทย คือ กลไกจากส่วนกลางจากข้างบนมีนโยบายระดับชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่มีแผนระดับปฏิบัติที่ชัดเจนจนคนทำงานในพื้นที่ทำงานได้ยาก บางครั้งคนในพื้นที่ยังเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะหากในระดับนโยบายกำหนดทิศทางข้างบนให้ชัดเจน การทำงานก็จะดีขึ้น"
เมื่อนโยบายเป็นเพียงแค่แผนระดับชาติแต่ไม่มีแผนปฏิบัติที่จริงจงทำให้ข้าราชการในระดับท้องถิ่นไม่กล้าปฏิบัติรวมไปถึงไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งในเรื่องอุปกรณ์ เช่น เครื่องกำจัดความเร็ว
"เราบอกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่า ไม่มีกล้องจับความเร็ว ในวันนี้ก็ไม่มีเหมือนเดิม ซึ่งในตำรวจทางหลวงขอนแก่นเองนั้นมีเครื่องตรวจจับความเร็วแค่เครื่องเดียว ราคาประมาณ 1 ล้านบาท" ส่วนปัญหาทางวิศวกรรมทางถนนนั้น นพ.วิทยาบอกว่าความจริงแล้วถนนดี แต่การออกแบบถนนยังไม่ได้รวมเรื่องความปลอดภัย จนเกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ การสร้างถนน เป็นสูตรสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทิศทางไม่มีนโยบายการปฏิบัติเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นไม่จริงจัง
ส่วนกรณีเวียดนาม สามารถรณรงค์สวมหมวกกันน็อคเพียงแค่ 3 ปี แต่สามารถทำได้ 100% แต่ประเทศไทย รณรงค์มานานกว่า 20 ปีไม่ขยับเพิ่มขึ้นมากนักนั้น นพ. วิทยา กล่าวว่า หัวใจอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายทุกประเทศจะสามารถดำเนินการลดการเกิดอุบัติเหตุได้ต้องบังคับใช้กฎหมายได้ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังสั่งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไทยก็ทำได้เช่นกัน
"ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังเท่านั้น ที่สามารถลดปัญหาได้ หรืออาจเพิ่มอุปกรณ์ เข้ามาช่วยเช่น กล้องซีซีทีวี เพื่อตรวจสอบ เพราะว่าหากมีเครื่องมือเหล่านี้ตำรวจไม่ต้องกลัวว่าอุปถัมภ์หรือไม่ เพราะว่าตำรวจมีหน้าที่ส่งใบสั่งอย่างเดียวไม่ว่าใครเป็นลูกท่านหลาน"
เมื่อนโยบายส่วนกลางไม่ชัดเจนจึงทำให้ ทำให้นพ.วิทยา เดินออกมาห้องผ่าตัดเพื่อทำงานร่วมกันเครือข่ายภาคประชาชน ตำรวจ แพทย์ พยาบาลในหลายพื้นที่ตื่นตัว...รอเพียงความชัดเจนจากนโยบายระดับชาติ ที่จะให้เกิดความชัดเจนจริงจังมากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงได้
ถึงวันนี้ นพ.วิทยา ยังทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุซึ่งเขายืนยันว่า ขณะนี้เครือข่ายในพื้นที่ตื่นตัวมากแล้วรอเพียงความเอาจริงเอาจังจากรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมาย
"ผมอยากบอกว่า เรารณรงค์มาเยอะมากแล้ว ตอนนี้ขอแค่นโยบายที่ชัดเจน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็พอ"
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555
- 55 views