คงต้องเขียนถึงกันอีกรอบหลังจากพยาบาลชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขออกมารวมตัวประท้วงเรียกร้องการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ

พยาบาลชั่วคราวที่ต้องการตำแหน่งมีมากถึง เกือบ 2 หมื่นอัตรา  และปัญหานี้เรื้อรังยาวนาน แต่การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า แต่อย่างใด

วันก่อนเจอแพทย์ท่านหนึ่งบ่นให้ฟังว่า วิกฤติพยาบาลเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่ควรจะมองข้ามแต่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเร่งด่วน

เพราะจะว่าไปแล้ว การบรรจุเข้ารับตำแหน่งราชการอาจจะไม่ใช้คำตอบของการแก้ปัญหา และเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นจริง ได้ยาก

ต้องยอมรับว่า ระบบราชการไทยเข้าสู่การปฏิรูปมานานและดำเนินนโยบาย Zero growth หรือการลดจำนวนข้าราชการ  อีกทั้งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ออกมาระบุเองว่า  การบรรจุตำแหน่งราชการทำได้ก็เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมเท่านั้น การยอมให้บรรจุตำแหน่งใหม่ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องของเหล่านางฟ้าสีขาวที่ต้องการบรรจุถึง 1.7 หมื่นตำแหน่ง ก็ดูมืดมนพอสมควร แล้วอะไรเป็นทางออกเพราะ ปัญหาวิกฤติพยาบาลตอนนี้เริ่มกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยเพราะหลายโรงพยาบาลต้องปิดวอร์ด เปิดห้องผ่าตัดไม่ได้เพราะขาดแคลนพยาบาล

แม้ที่ผ่านมาแต่ละโรงพยาบาลจะพยายามแก้ไขปัญหากันเองด้วยการ นำเงินบำรุงโรงพยาบาลมาจ้างพยาบาลในราคาที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนราชการ แต่ก็พบว่าการกำหนดอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไรหากขาดความมั่นคงเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่รวมสวัสดิการอื่นๆไม่มีบันไดความก้าวหน้า

ที่สุดแล้วการบรรจุเป็นข้าราชการอาจจะไม่ใช่คำตอบหากรัฐจัดสวัสดิการที่ดีเพียงพอเพราะหากไม่แก้ปัญหาอาจเป็นระเบิดใต้พรมที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อ

ยิ่งเมื่อตรวจสอบเงินบำรุงโรงพยาบาลที่นำมาจ่ายค่าตอบแทนทั้งแพทย์และพยาบาลเพื่อจูงใจให้อยู่ในระบบพบว่า ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งต้องแบกภาระค่าตอบแทนรวมประมาณ 3,297 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทระบุว่าโรงพยาบาลชุมชนจำนวน730แห่งต้องจ่ายค่าตอบแทนราว2,870 ล้านบาทต่อไป  และยิ่งเมื่อรวมค่าตอบแทนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้าไปด้วยพบว่าตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 6,425  ล้านบาท ส่วนตัวเลขงบประมาณภาพรวมเงินบำรุงโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขน้อยลงไปเรื่อยๆในปี2553มีเงินบำรุงโรงพยาบาลเพียง 7,16.23  ล้านบาท และแน่นอนว่าปีนี้ลดลงไปอีก จะเห็นได้ว่าภาพรวมของค่าตอบแทนต้องแบกมากถึงปีละ 6,425  ล้านบาท ทำให้เงินบำรุงโรงพยาบาลที่เหลือมาใช้พัฒนาเครื่องมือ และคุณภาพการรักษาจริงๆเพียงปีละไม่เกิน 1,000  ล้านบาทส่วนทั้งหมด ต้องแบกค่าตอบแทนเพื่อรักษาบุคลากรให้อยู่ในระบบให้ได้

แม้จะพยายามกันมากขนาดนี้ก็ยังว่าในแต่ละปีมีพยาบาลที่ไหลออกจากระบบจำนวนมากเพราะปัญหาไม่ใช่เพียงค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นหากหมายรวมไปถึงสวัสดิการ ความก้าวหน้าทางการงาน ที่การจ้างแบบพนักงานชั่วคราวตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ด้านทำการสำรวจความคิดเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งก็พบว่าหากมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ดีเพียงพอ  หมายถึงอัตราเงินเดือน  สวัสดิการ การก้าวขึ้นของเงินเดือน การมีสิทธิศึกษาต่อ และมีระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน พยาบาลสามารถแลกได้เช่นกัน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงตำแหน่งราชการเท่านั้นที่พวกเขาเรียกร้อง  หากหมายถึงชุดสิทธิประโยชน์ที่ดีพอที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ ถึงเวลาที่เราต้องเร่งแก้ ปัญหากันแล้วก่อนที่จะพังทั้งระบบสุขภาพ

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 ตุลาคม 2555