ปรากฏการณ์หมอคืนถิ่นอย่าง "นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูจะไม่เหมือนหมอคนก่อนๆ ที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวง นั่นเพราะ นพ.ประดิษฐ์เคยทำงานในกระทรวงช่วงเวลาสั้นๆ กับแพทย์ประจำโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ก่อนจะผันตัวเองมาทำงานด้านบริหารในเส้นทางธุรกิจ
ทำให้ถูกจับตามองว่า การบริหารงานครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด จะคงความเป็นข้าราชการ หรือจะเป็นเอกชนที่เน้นความรวดเร็ว และคุ้มค่าในแง่ของประสิทธิผลหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในการประกาศนโยบายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ รัฐมนตรีผู้นี้ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี เน้นการบริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประสิทธิผลดีเยี่ยม ด้วยการมอบนโยบายเร่งด่วนให้ทุกกรมในกระทรวง ทำงานตามตัวชี้วัด และประเมินผลทุก 6 เดือน และ 1 ปี
ขณะที่ภาพรวมการทำงานของกระทรวงต้องเปลี่ยนไป เห็นได้จากนโยบายการปรับโครงสร้างของหน่วยงานภายใน โดยต้องมีองค์กรการจัดการผู้ให้บริการ แยกส่วนจากผู้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อลดข้อขัดแย้งต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงทำหน้าที่ทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ นโยบาย ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ดูแลหน่วยงานให้บริการ หรือโรงพยาบาลในสังกัดหลายพันแห่ง ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ซื้อบริการ หรือจ่ายเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการในการให้บริการประชาชนตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
จากการบริหารดังกล่าวทำให้ถูกมองว่าลักษณะนี้เป็นการทำงานที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียได้ ไม่ได้แยกส่วนชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปรูปแบบการทำงานใหม่ โดยให้กระทรวงเป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ต่างๆ แต่หน้าที่ในการบริหารจัดการหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลในสังกัด จะกระจายอำนาจไปยังแต่ละเขตพื้นที่ โดยอาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ ซึ่งอาจปรับสถานะหน่วยบริการของรัฐ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาบุคลากรสาธารณสุขไม่มีอัตราตำแหน่งข้าราชการ แต่จะให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) แทนลูกจ้างชั่วคราว มีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการ สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างระเบียบปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงาน ก.สธ.คาดว่าจะเป็นรูปธรรมในเดือนธันวาคม 2555
"นพ.ประดิษฐ์" ก็ดูจะเห็นด้วยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานะลูกจ้างชั่วคราว เพราะจัดเป็นหนึ่งในหลายนโยบาย ส่วนการส่งเสริมสุขภาพยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้า โดยเฉพาะลดการเกิดโรคเรื้อรัง หรือลดจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ในการมารับยาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่อาจหันไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือร่วมกับร้านขายยาเอกชน เบื้องต้นอาจเป็นร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยที่ต้องรับยาด้วย ซึ่งจะช่วยกระจายผู้ป่วยไม่ให้เกิดการกระจุกตัวนั่นเอง แต่ปัญหาคือ กรมบัญชีกลางกลับมีประกาศสวนทางให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการลงทะเบียนโรคเรื้อรัง 1 โรคต่อ 1 โรงพยาบาล ซึ่งขัดกับนโยบายของ สธ. งานนี้คงต้องดูว่ารัฐมนตรีจะร่วมแก้ปัญหาอย่างไร
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ เพราะอย่าลืมว่างบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ผ่านมาลดลง จากเดิม สปสช.ตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวในปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ราว 2,900 บาทต่อคนต่อปี แต่ได้มาที่ 2,755.60 บาทต่อคนต่อปี ลดลงร้อยละ 4.9 ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 10 ปี ขณะที่งบในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ใช้งบกว่า 60,000 ล้านบาท ดูแลข้าราชการและครอบครัวประมาณ 6 ล้านคน แต่กลับใช้งบมหาศาล ส่วนประกันสังคม คิดต่อหัวอยู่ราว 2,500 บาทต่อคนต่อปี แต่ประชาชนต้องร่วมจ่าย
"มีการหารือถึงแนวคิดในการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ โดยมีการเสนอโมเดลแนวคิดการเงินระยะยาว กล่าวคือ ให้จัดทำเป็นระบบสาธารณสุขพื้นฐาน มีคณะกรรมการประเมินเทคโนโลยี กำหนดมาตรฐานการรักษาของสาธารณสุขพื้นฐานขึ้น โดยให้ทุกระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนจ่ายเข้าระบบประกันสุขภาพกลาง ตามอัตราที่กำหนด เบื้องต้นเสนอตัวเลข 3,000 บาทต่อคนต่อปี โดยทุกคนในทุกระบบจะได้สิทธิประโยชน์การรักษาที่เหมือนกันหมด เรียกว่าสิทธิสาธารณสุขพื้นฐาน ส่วนใครหรือกองทุนใดต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มให้ร่วมจ่ายเพิ่ม ซึ่งกรณีนี้หากเป็นจริง จะมีลักษณะคล้ายการซื้อประกันสุขภาพ ใครมีเงินมากซื้อได้มาก ส่วนคนจนก็คงไม่ได้ซื้อประกันเพิ่ม ตรงนี้ทำให้น่ากังวลว่า สุดท้ายคนจนจะกลายเป็นกลุ่มอนาถา ซึ่งก็จะไม่ต่างจากครั้งอดีต แนวคิดนี้จึงเป็นแนวคิดทุนนิยมที่เตรียมพร้อมการเปิดการค้าเสรี ท้ายที่สุดผู้ได้ประโยชน์คือ ภาคเอกชน หรือไม่" แหล่งข่าวกล่าวการปฏิรูปจะออกมารูปแบบใด โมเดลการเงินการคลังจะเป็นไปได้แค่ไหน คงต้องฝากคำถามไปยังรัฐมนตรี สธ. ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะประธานบอร์ดครั้งแรกในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ประเด็นนี้อย่ากะพริบตา...
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555
- 2 views