เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะคณะทำงานวิชาการธรรมาภิบาลด้านยา องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนารูปแบบการนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาไปสู่การปฏิบัติ" ว่า ข้อมูลสถานการณ์ด้านยาโลกปี 2011 ได้สำรวจเชิงปริมาณใน 25 ประเทศ ระบุว่าการส่งเสริมการขายยาเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการ คอร์รัปชั่นมากที่สุด และเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบยา คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการต่อเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย และให้ออกประกาศเป็นเกณฑ์กลางของประเทศแล้ว ขณะที่ สธ.ก็กำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของธรรมาภิบาลในระบบยา ซึ่งประเด็นการส่งเสริมการขายยาจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนนี้ด้วย
ด้าน ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ในหลักเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งผู้สั่งใช้ยา ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในสถานพยาบาล เภสัชกรในสถานพยาบาล สถานบริการเภสัชกรรม หรือหน่วยงานอื่นๆ บริษัทยาและผู้แทนยา อาจารย์และนักศึกษาของสถานศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้ 1.การรับประโยชน์อันเป็นทรัพย์สิน ของขวัญ ของบริจาค บริการ การจัดอาหารและเครื่องดื่ม 2.การรับตัวอย่างยา 3.การรับทุนสนับสนุนจากบริษัทยาไปประชุม สัมมนา อบรม ดูงานหรือบรรยายทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนการวิจัย 4.การดำเนินการเพื่อส่งเสริมการขายยาของบริษัทและผู้แทนยาในโรงพยาบาล และ 5.การดำเนินการเพื่อการคัดเลือกยา และระบบการคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายยาและระบบการจัดซื้อยาที่เปิดเผย
"ขณะนี้เริ่มนำร่องแล้วในโรงพยาบาลรัฐ 20 แห่ง โดยมี 4 โรงพยาบาลที่พร้อมนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติ ได้แก่ รพ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รพ.บ้านธิ จ.ลำพูน รพ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และ รพ.สงขลา จ.สงขลา ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างเตรียมนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติมี 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.ราชวิถี และ รพ.รามาธิบดี" ภญ.สุนทรีกล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 31 ตุลาคม 2555
- 2 views