กระทรวงการคลังยืนยันจัดการกลุ่มช็อปปิ้งยา แก้ปัญหาค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการพุ่ง
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.)สาธารณสุข วุฒิสภา เมื่อวันที่30 ต.ค.ว่าจะต้องแก้ปัญหาการช็อปปิ้งยาต่อไป เนื่องจากงบประมาณสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นสูงมากตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2554 อยู่ที่ 6.1-6.2 หมื่นล้านบาทหลังจากนั้นรัฐบาลจึงสั่งให้ควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะเพิ่มขึ้นเกือบ 150% ของงบประมาณก่อนใช้ระบบเบิกตรง
"ในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นค่ายา 80% ส่วนมากเป็นยานอกบัญชียาหลักเป็นส่วนใหญ่" น.ส.สุภา กล่าว
สำหรับเรื่อง 1 โรค 1 โรงพยาบาลเป็นวิธีคิดเพื่อคุมการช็อปปิ้งยาเพราะคิดว่าระบบการออกเงินไปก่อนและมาเบิกต้นสังกัดถือเป็นรูรั่วใหญ่ ดังนั้นจำเป็นให้ทุกคนต้องมาลงทะเบียนและมาเบิกค่ายาผ่านระบบจ่ายตรง แต่จะมีปัญหากับโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากทุกฝ่ายต่างวิ่งเข้าหา จึงเป็นภาระในการรักษาพยาบาล
ขณะเดียวกันคนป่วยเล็กน้อยก็ต่างวิ่งเข้ามาแทนที่จะไปโรงพยาบาลตำบล ซึ่งสามารถทำการรักษาได้เหมือนกัน ดังนั้นมีการหารือด้วยการพัฒนาระบบจ่ายตรงเป็นเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลศิริราช ว่าจะมีเครือข่ายอะไรบ้าง
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การออกประกาศห้ามเบิกยากลูโคซามีนซัลเฟตรักษาข้อเข่าเสื่อมเป็นสวัสดิการข้าราชการถือเป็นความก้าวหน้าของกรมบัญชีกลาง เพราะรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการใช้ยาชนิดนี้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำกับระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นการไม่ปล่อยให้บรรดาผู้ป่วย-ผู้บริโภคถูกแพทย์พาณิชย์ที่หากินร่วมกับบรรษัทยาข้ามชาติปั่นหัวให้ต้องใช้ยาราคาแพงและแอบจ่ายยาฟุ่มเฟือยทั้งที่เป็นการทำกำไรบนชีวิตประชาชน
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 31 ตุลาคม 2555
- 6 views