เลขาฯแพทยสภาชี้ มีข้าราชการบำนาญยื่นฟ้องกรมบัญชีกลางไปแล้ว ด้านกรมบัญชีกลางยอมเลื่อน'1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาล'เตรียมส่งหนังสือเวียนหน่วยราชการ แต่ยันเลิกกลูโคซามีนเป็นบัญชียาหลัก ชี้เป็นแค่อาหารเสริม
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารสวัสดิการได้ประชุมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมหารือเกี่ยวกับโครงการ 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาล หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งไปยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการลงทะเบียนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2555นั้น ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ขยายเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่พร้อมทั้งระบบคอมพิวเตอร์ กรมบัญชีกลางจึงเตรียมส่งหนังสือเวียนทบทวนโครงการไปยังส่วนราชการให้รับทราบ
"ตามแผนงานเดิม ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ได้รับยารักษาไม่ซับซ้อนสะดวกต่อการบริหารจัดการในการเบิกจ่ายตรงแต่หลังจากได้มีข้อเรียกร้องจากกรรมาธิการของสภา กระทรวงสาธารณสุข และผู้ป่วยข้าราชการ ระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิจำกัดการรักษา เพราะการกำหนดตายตัว อาจเปลี่ยนโรงพยาบาลไม่ได้" นายมนัสกล่าว
สำหรับข้อกำหนดในการใช้ยากลูโคซามีนนายมนัสกล่าวว่า หลังจากทำการศึกษาแล้วพบว่าเป็นเพียงอาหารเสริม จึงมีคำสั่งให้ส่วนราชการยกเลิกใช้ยานอกในการรักษานั้น ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงเดินหน้าไปเหมือนเดิมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เพราะกลุ่มยาดังกล่าวใช้งบสูงถึงปีละ 900 ล้านบาท แต่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่เตรียมฟ้องร้อง และอาจเป็นเวทีสัมมนาชี้แจงแนวทางดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
นายมนัสกล่าวถึงระเบียบกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการใช้ยานอกบัญชีในการรักษาว่าข้าราชการไม่ต้องกังวล เพราะข้อหนดที่ออกมานั้นอนุญาตให้แพทย์ผู้ทำการรักษาพิจารณาใช้ยานอกบัญชีหลักได้ โดยไม่มีการห้าม เพียงแต่ให้อธิบายเหตุผลในการใช้ยาดังกล่าว ส่วนกรณีที่แพทย์บางรายไม่ยอมใช้ยานอกบัญชีหลักอาจเพราะไม่ต้องการชี้แจงเหตุผลการใช้ยาดังกล่าว ยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามใช้ยาหลักทั้งหมด
นายมนัสกล่าวต่อว่า แผนการปรับปรุงประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลหลังจากในงบประมาณปี 2555 ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้ 61,844 ล้านบาท เพื่อขอความร่วมมือให้เบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้มีการเบิกจ่ายจริง 61,587 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 256 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี2556 ได้รับจัดสรรงบไว้ 6 หมื่นล้านบาทกรมบัญชีกลางมีเป้าหมายเบิกจ่ายให้ได้ตามที่งบตั้งไว้
"ยอมรับว่าเงินที่ประหยัดได้บางส่วนจะนำไปปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ข้าราชการผู้ป่วยให้ดีขึ้นเช่น ค่าห้องเบิกจ่ายได้คืนละ 600 บาท คงต้องปรับขึ้นให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมถึงหูเทียม อวัยวะเทียม ที่มีราคาสูงขึ้น จึงต้องปรับสวัสดิการต่างเหล่านี้ได้รับการเบิกจ่ายให้สูงขึ้น เพื่อต้องการเข้มงวดการเบิกจ่ายที่ไม่จำเป็น ซ้ำซ้อน ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อนำเงินไปปรับปรุงสวัสดิการในส่วนที่จำเป็นมากขึ้น" นายมนัสกล่าว
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภากล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารสวัสดิการได้มีมติให้ส่วนราชการห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้และมีมติให้ชะลอโครงการ 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาลว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ได้มีข้าราชการบำนาญที่ไม่ใช่กลุ่มแพทย์ได้ยื่นฟ้องกรมบัญชีกลางต่อศาลปกครองไปแล้วเกี่ยวกับการยกเลิกห้ามเบิกค่ายา กลูโคซามีนซัลเฟต อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมีมติออกมาเช่นนี้แล้วก็คงต้องยอมรับ มีกลุ่มผู้เสียหายไม่มากนัก เพราะมีผู้ใช้ยาดังกล่าวแล้วได้ผลจริงๆ มีไม่มาก และยากลูโคซามีนซัลเฟตก็มีราคาไม่แพง ราคาซองละ 10 บาท
"ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับมาตรการยกเลิกเบิกค่ายา และขออย่าให้มีการนำมาใช้กับยาตัวอื่นอีก ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ควรมีการพูดคุยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ข้าราชการ กรมบัญชีกลาง และนักวิชาการ ซึ่งต้องเป็นแพทย์ที่ไม่ได้ถูกจ้างมา ส่วนที่มีการชะลอโครงการ 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาลนั้นก็ถูกต้องแล้วควรมีการศึกษาและแก้ไขระเบียบด้วย เพราะผู้ป่วยต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นอยู่แล้ว อันที่จริงยังมีวิธีอื่นที่จะทำให้การเบิกจ่ายค่ารักษาเป็นไปตามเป้าหมายงบประมาณ 60,000 ล้านบาท อย่างการส่งตัวผู้ป่วยก็อาจระบุไว้ว่า สามารถส่งตัวรักษาได้แต่หากมีการส่งตัวครั้งที่ 3 ต้องจ่ายเงินไปก่อนแล้วค่อยเบิกทีหลัง เป็นต้น" นพ.สัมพันธ์กล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 29 ตุลาคม 2555
- 3 views