หลังประกาศใช้เกือบครบ 1 เดือน ชี้ยาต้านไวรัสช่วยลดอัตราเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ นพ. นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดประชุมชี้แจงแนวการดำเนินงานบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ว่า สธ.ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้คนไทยได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐานเดียวกัน โดยเริ่มจากการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และประกาศเพิ่ม 2 โรค คือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และเอดส์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ราบรื่นดี ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้บริการยาต้านไวรัสเอดส์ตั้งแต่ พ.ศ.2545 เป็นต้นมา พบว่าจำนวนการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ลดลงมากถึง 19 เท่าตัว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประมาณตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ล่าสุดใน พ.ศ.2555 คาดว่ามียอดสะสม 1,157,589 ราย ในจำนวนนี้ยังมีชีวิต 464,414 ราย โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสทั้ง 3 กองทุน มี 225,272 คน และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน โดยได้ปรับสิทธิประโยชน์หลัก 2 เรื่อง คือ 1. ด้านการรักษาพยาบาล ให้ทุกสิทธิใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยกเว้นสิทธิข้าราชการที่เคยได้รับยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่แล้วให้รับยาเดิมต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ต้องชำระเงินค่ายา ส่วนข้าราชการให้จ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้ปรับเกณฑ์ในการเริ่มให้ยาต้านไวรัสที่ระดับซีดีโฟร์ (CD4) น้อยกว่า หรือเท่ากับ 350 เซลล์ต่อ ลบ.มม. เพื่อลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อฉวยโอกาส และ 2. ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ บริการตรวจเลือดในผู้ที่เริ่มรับยาแล้วสามารถตรวจพื้นฐาน เช่น น้ำตาล คอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ปีละ 1-2 ครั้ง ตรวจระดับซีดีโฟร์ หาค่าจำนวนไวรัส (Viral Load) เป็นต้น
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 27 ตุลาคม 2555
- 9 views