คุณลักษณะและภารกิจหลักของ “หมอประจำตัว”
หมอประจำตัวทั่วไทยเริ่มต้นจากคำถามว่า หมอคือใคร อยากจะอธิบายให้ทราบว่าหมอคือบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีความรู้ระดับปริญญาตรีขึ้นไป เช่น พยาบาลวิชาชีพ หรือนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบดูแลประชากร 1 ต่อ 1,250 คน บุคลากรคนนี้ต้องมีหัวใจสามดวง
ดวงที่หนึ่ง ปฏิบัติตัวกับประชาชนที่ตนเองรับผิดชอบเหมือนเป็นญาติของตนเอง
ดวงที่สอง มีความตั้งใจและพยายามร่วมมือแนะนำประชาชนกลุ่มนั้นให้ช่วยกันดูแลสุขภาพ ตนเองและป้องกันโรคไม่ให้เจ็บป่วย
และดวงที่สาม เมื่อมีความจำเป็นต้องเจ็บป่วยประชาชนเหล่านั้นจะได้รับการดูแลสุดสุดจากหมอประจำตัวอาจจะเป็นการดูแลรักษาด้วยตนเองหรือการส่งต่อให้ผู้อื่นที่มีความสามารถดูแลต่ออย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
ประการต่อมาหมอประจำตัวจะต้องมี 5 ทักษะคือ
1.มีทักษะเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้วยความอดทน เข้าใจและจริงใจกับประชาชนที่ตนเองรับผิดชอบ
2.มีทักษะในการสอบสวนโรคซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นในชุมชน
3.มีทักษะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การดูแลโรคง่ายง่ายที่พบบ่อยและมีความสามารถในการส่งต่อ ประสานงานให้แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ รับดูแลต่อด้วยความเต็มใจ
4.มีทักษะเกี่ยวกับการดูแลผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ติดเตียงและติดบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ
5.มีทักษะเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล รวบรวมประวัติของประชาชนที่ตนเองรับผิด ชอบจัดเก็บเป็นระบบ สามารถวางแผนดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี
ประเด็นที่จะดูแลกลุ่มประชาชน 1,250 คนในภาพรวมนั้นจะต้องพิจารณาครบถ้วน 7 ประเด็น 7 กลุ่มดังต่อไปนี้ (เขียนย่อเป็น W.E.C.A.N.D.O.)
1 เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน (W: working age) จะดูแลคัดกรองแยกแยะเป็นกลุ่มดี, เสี่ยง หรือกลุ่มป่วย. พร้อมทั้งวางแผนร่วมกันกับประชาชนผู้ป่วยในการดูแลต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและรับยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเรียน (E: educational age) กลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องของจิตใจ การวางตัวในสังคม รวมทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ติดยาเสพติด หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพฟันจะได้รับการดูแลครบถ้วน
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี (C: child) กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลพัฒนาการอย่างใกล้ชิดมีการประสานให้เข้าเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในศูนย์เด็กเล็กที่มีอย่างทั่วถึงในชุมชน และจะได้รับการดูแลสุขภาพฟันอย่างใกล้ชิด
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มของเด็กแรกเกิดและหญิงตั้งครรภ์ (A: antenatal care) หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลประคบประหงมอย่างดี เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับอาหารเสริม วัคซีน และการให้คำปรึกษา ได้พักผ่อนเต็มที่ ขณะเดียวกันเด็กที่คลอดอยู่ในขวบปีแรกจะได้รับบริการการคลอดที่มีคุณภาพ ไม่เกิดภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุของพัฒนาการช้าของสมองเด็ก และจะได้รับการดูแลเรื่องอาหารเสริมโภชนาการและวัคซีนอย่างครบถ้วน
กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง (N: non-communicable) ในปัจจุบัน ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีมากถึง 5% ของประชากร ดังนั้นประชากร 1,250 คนจะป่วยประมาณ 60-65 คน จะได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไป
กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มผู้พิการ (D: disable) กลุ่มนี้จะได้รับอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อให้อยู่ในสังคม ช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีเกียรติ กรณีที่ต้องนอนติดเตียง จะมีการประสานนักกายภาพบำบัด หรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องไปดูแลถึงบ้าน
กลุ่มที่ 7 คือกลุ่มผู้สูงอายุ (O: old age) ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่
1.กลุ่มติดสังคม กลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ พบปะเพื่อนฝูงอยู่บ่อยๆ
2.กลุ่มติดบ้าน พวกนี้ต้องมีคนดูแลอยู่ห่างๆ ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้
3.กลุ่มที่ติดเตียงกลุ่มนี้จะป่วย บางคนมีโรคแทรกซ้อนและอาจจะต้องอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตบนเตียง
หมอประจำตัวจะมีทักษะในการประสาน ดูแลช่วยเหลือ สิ่งใดที่ทำได้ก็ทำเอง สิ่งใดที่ทำได้แต่ไม่ดีจะชวนผู้อื่นที่มีทักษะมากกว่ามาช่วย กรณีที่ทำไม่ได้เลยจะช่วยส่งต่อไปให้ได้รับการดูแลครบถ้วนครบวงจรเสมือนเป็นญาติของตนเอง
เราพอจะสรุปสาระสำคัญของหมอประจำตัว 10 ประการซึ่งอาจจะบัญญัติเป็นบัญญัติ 10 ประการของหมอประจำตัวทั่วไทยดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ดูแลประชาชนดุจญาติ เสมือนครอบครัวเดียวกัน ช่วยดูแลทุกอย่างโดยไม่มีอคติและความเกลียดชังและความเหนื่อยหน่าย
ข้อ 2 เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย ได้แก่ การสนใจเรื่องอาหารการกิน การสนใจเรื่องของการละเว้นอบายมุข การสนใจเรื่องของการออกกำลังกาย การอยู่ในอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี และการควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใสเขียนสั้นสั้นเป็น 5 อ
ข้อ 3 เมื่อประชาชนที่ตนเองดูแลเจ็บป่วย หมอประจำจะมีความพยายามและเอาใจใส่โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนนั้นหายจากโรค หรือทุเลาจากโรคที่รุนแรงด้วยการประสานแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
ข้อ 4 หมอประจำตัวต้องมีทักษะ 5 ด้านที่ชัดเจนและหมั่นพัฒนาเพิ่มพูนทักษะตลอดเวลา
ข้อ 5 มีการใช้ระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมต่อติดต่อกัน ทำให้มีสภาพอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ เช่น ประชาชนสามารถจะใช้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตติดต่อโดยตรงได้ตลอดเวลา และหมอประจำตัวจะมีประวัติประชาชนที่ตนเองดูแลบันทึกไว้เป็นระบบ สามารถอธิบายให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ได้ทราบและเข้าใจได้อย่างถ่องแท้
ข้อ 6 สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพของครัวเรือนทั้งกายและใจอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์หาต้นเหตุปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งบางครั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะกระทบความไม่สบายได้ เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ข้อ 7 หมอประจำตัวต้องทำงานเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงหมอประจำตัวด้วยกัน และสานต่อถึงบุคลากรส่วนอื่นๆ เช่นนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักจิตวิทยา ทันตแพทย์ เภสัชกร หรืออื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อช่วยกันดูแลประชาชนที่ตนเองรับผิดชอบโดยตรง
ข้อ 8 หมอประจำตัวจะใช้ชุมชนเป็นฐานในการเสริมความรู้ อบรมให้กับญาติพี่น้องของผู้ป่วย อาสาสมัคร และผู้เสียสละอื่นๆ ในหมู่บ้าน ในตำบลให้มาร่วมเรียนรู้เสมือนหนึ่งชุมชนเป็นโรงเรียนของการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
ข้อ 9 หมอประจำตัวต้องสนใจดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่
ข้อ 10 หมอประจำตัวต้องยกย่องเชิดชูผู้ทำความดีในหมู่บ้าน ตำบล ไม่เฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น โดยพิจารณาสมาชิกในหมู่บ้านและตำบลทุกคน
สรุปคุณลักษณะสำคัญที่เป็นจุดเด่นของหมอประจำตัว
1.ต้องเป็นคนที่มีจิตวิญญาณรักประชาชน เป็นญาติกับประชาชน หลอมอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน
2.เป็นที่ปรึกษาที่พึ่งพิงที่ไว้ใจได้ แนะนำพร่ำสอน ชักชวน ปลุกเร้าให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง รักการออกกำลังกาย สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเมื่อเจ็บป่วยหมอประจำตัวจะดูแลสุดสุด ถึงไหนถึงกัน ไม่มีข้อจำกัด หมอประจำตัวคนนี้มีความรับผิดชอบสูง เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกซึ่งตนเองรับผิดชอบที่อยู่ในชุมชนมีทุกข์ด้านสุขภาพ ก็จะรู้สึกว่าตนเองต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อก้าวให้พ้นปัญหานั้นๆ
3.มีทักษะความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด นักการแพทย์แผนไทย นักวิชาการทันตสาธารณสุข นักโภชนาการ บุคลากรเหล่านี้มีความรู้พื้นฐานที่สามารถเข้าใจหลักการพื้นฐานเบื้องต้นของความเจ็บป่วย หรือความไม่สบายหรือภัยสุขภาพที่กระทบแต่ละบุคคล
4.มีทักษะพิเศษ 5 ทักษะเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ในการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล และดูแลปัญหาสาธารณสุขของชุมชน คนเหล่านี้จะมีความสามารถพิชิตปัญหาด้วยความอุตสาหะ ดังต่อไปนี้
4.1 จัดการวางแผนข้อมูล หมอประจำตัวรู้สภาวะสุขภาพรายบุคคล และเมื่อประมวลรวมเป็นของชุมชน จะทราบอย่างชัดเจนว่าในหมู่บ้านนั้นหรือชุมชนนั้น มีบุคคลกำลังประสบปัญหาสุขภาพอยู่ในกลุ่มสุขภาพดี หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรืออยู่ในกลุ่มที่ป่วยแล้ว จะมีการวางแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบ คล้ายกับมีแผนชีวิตประจำตัว และแผนชีวิตประจำชุมชนสำหรับประชาชนอย่างชัดเจน
4.2 มีความรู้ในเรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ในเบื้องต้น และมีความสามารถในการให้บริการดูแลพัฒนาการของการฝากครรภ์พื้นฐานที่มีคุณภาพของหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กประถมวัยของเด็กก่อนวัยเรียน
4.3 มีทักษะเรื่องการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค มีความรู้เบื้องต้นทางระบาดวิทยา สามารถที่จะดำเนินการสอบสวนโรคในชุมชน หรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างรอบคอบ
4.4 มีทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่จะประสบปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ประชาชนเหล่านี้ต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และงดอาหารดิบ มีความเข้าใจและปฏิบัติตนได้อย่างดีเกี่ยวกับการลด ละ เลิก อบายมุข ได้แก่ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด รวมถึงมีทักษะในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้ การควบคุมอารมณ์ให้นิ่ง รู้จักปล่อยวางเพื่อลดปัญหาความเครียด และที่สำคัญก็คือ มีทักษะเพื่อที่จะฟังบุคคลอื่นรับฟังได้เป็นอย่างดี
4.5 มีทักษะในการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง กลุ่มบุคคลดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส และเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด อย่างน้อยก็มีผู้ที่มีความรู้ตามดูแลถึงที่บ้าน ปัญหาเหล่านี้หมอประจำตัวจะต้องมีการอบรมทักษะเพิ่มเติม ในการดูแลทางด้านกายภาพบำบัดเบื้องต้น
5.เป็นธุระในการดูแลประชาขนที่รับผิดชอบแบบครบวงจรต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งสมาชิกในกลุ่มเป็นญาติของตนเอง มีทักษะในการประสานและส่งต่อสมาชิกที่เจ็บป่วย หรือที่มีปัญหาสุขภาพมากเกินกว่าความสามารถที่ตนเองจะดูแลได้ ส่งไปให้ผู้มีความสามารถเฉพาะทางดูแลต่อได้ครบวงจร ได้แก่ แพทย์และแพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือ นักจิตวิทยาอื่นๆ รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์ที่บางครั้งอาจจะมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาให้กับเยาวชน หรือผู้ด้อยโอกาสที่ตนเองไม่สามารถดูแลด้วยตนเองได้
เช่น คุณสมศรี เป็นนักวิชาการสาธารณสุข ที่เป็นหมอประจำตัวรับผิดชอบดูแลกลุ่มประชากรในหมู่บ้านหนึ่งหรือในชุมชนเมืองชุมชนหนึ่ง มีจำนวนประมาณ 1,250 คน คุณสมศรีมีภารกิจเบื้องต้นคือการไปทำความรู้จักและใกล้ชิดเสมือนหนึ่งเป็นญาติกับประชากรทั้ง 1,250 คน ประมาณ 350 ครอบครัว คุณสมศรีจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนเป็นการประจำทุกวัน หมุนเวียนเปลี่ยนไป ตามแต่คุณลักษณะและสภาพของประชาชน คนที่อยู่ในกลุ่มสุขภาพดี อาจจะได้รับการเยี่ยมเยียนเพียงแค่เดือนละ 1 ครั้ง แต่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค อาจจะได้รับการเยี่ยมเยียนทุกๆ 2 สัปดาห์ สำหรับกลุ่มที่ป่วยและเป็นโรคเรื้อรังติดบ้านติดเตียง อาจจะต้องได้รับการเยี่ยมเยียนทุกๆ 4-7 วัน
เมื่อกระทำการตามแผนเหล่านี้ ประชาชนทั้ง 1,250 คน เสมือนหนึ่งมีคุณสมศรีเป็นญาติที่ใกล้ชิดและมีความรู้ด้านสาธารณสุข คุณสมศรีจะดำเนินการกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนตามกลุ่มวัยได้รู้จักทักษะในการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เร่งรัดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง การ ลด ละ เลิก อบายมุข การควบคุมอารมณ์
สำหรับกลุ่มที่ป่วยเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับย และติดตามดูแลกับแพทย์ที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง คุณสมศรีจะทำตัวเป็นผู้ประสานที่ดี ครอบคลุมทั้งการประสานโดยตรง ทางโทรศัพท์ หรือหากมีความจำเป็นในกรณีรุนแรง อาจจะต้องพาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง เพื่อความสบายใจและความอุ่นใจของประชาชนเหล่านั้น
สำหรับการส่งเสริมสุขภาพการให้ความรู้เบื้องต้น คุณสมศรีจะเดินทางมาพูดคุย เสมือนหนึ่งการให้สุขศึกษารายบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่จะได้ประโยชน์มีประสิทธิภาพมากกว่าการได้รับสุขศึกษาจากสื่อต่างๆ เท่านั้น กรณีดังกล่าวคุณสมศรีจะมีข้อมูลของประชากร 1,250 คน บันทึกแยกแยะเก็บไว้อย่างเป็นระบบบันทึกอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารชนิดอื่นๆ อาจจะเป็น iPhone หรือ iPad สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจจะมีการบันทึกภาพของสภาวะการเจ็บป่วยหรือบันทึกภาพ สถานที่อยู่อาศัย สภาพความเป็นอยู่ เพื่อประโยชน์ในการประสาน และปรึกษาแพทย์ หรือบุคลากรอื่นๆ ที่รับคำปรึกษาแก้ไขที่สมบูรณ์สุดท้ายต่อไป
การจัดโครงสร้างเพื่อรองรับภาระหน้าที่ปฐมภูมิที่ทรงพลัง
ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน เมื่อไม่นับกรุงเทพมหานครที่มีอยู่จำนวนประมาณ 10 ล้านคน ก็จะเหลือจำนวนที่ต้องดูแลในส่วนภูมิภาคจำนวนประมาณ 55 ล้านคน จำนวนดังกล่าวจะเป็นประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทประมาณ 70% ซึ่งคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 38 ล้านคนคน และจะเหลือประชาชนที่อยู่ในชุมชนเมืองประมาณ 17 ล้านคนคน
ถ้าจัดระบบให้สามารถดูแลอย่างทั่วถึง ในเขตชนบทมีพื้นที่ระดับหมู่บ้านและตำบล ถ้าจัดหน่วยบริการปฏิบัติการให้ 1 ตำบล มี 1 หน่วยบริการปฏิบัติการ 1 ตำบลมี 1 หน่วยบริการปฐมภูมิ ที่รับผิดชอบประชากรประมาณ 7,000 คนชัดเจน บางพื้นที่อาจจะมีประชากรแตกต่างกันอยู่ระหว่าง 6,000 ถึง 11,000 คน
ในเขตเมืองจะจัดพื้นที่ซึ่งเรียกชุมชนเมือง มักจะจัดในลักษณะบ้านหรือละแวกบ้าน ครอบคลุมประมาณ 8,000 คน ดังนั้น ถ้าคำนวณทางคณิตศาสตร์ พื้นที่ชนบทจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิประมาณ 5,700 แห่ง พื้นที่เขตเมืองจะมีอยู่ประมาณ 2,200 แห่ง จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งรวมประมาณ 8,000 หน่วย
ในจำนวนหน่วยบริการเหล่านี้ จะมีบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นหมอประจำตัวรับผิดชอบประชากรประมาณคนละ 1,250 คนและจะมี อสม.ซึ่งขณะนี้ทั้งประเทศมีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน อสม.จะทำหน้าที่เป็น "ผู้ช่วยหมอประจำตัว" หมอประจำตัวหนึ่งคนมีผู้ช่วยหมอ (อสม.) 25 คน นั่นหมายความว่าใน 1 หน่วยบริการปฐมภูมิจะมีหมอประจำตัวที่ปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 7-12 คน มีผู้ช่วยหมอประจำตัว (อสม.) 200 คน หมอประจำตัวแต่ละคนจะดูแลประชากรของตนเอง เสมือนหนึ่งเป็นทีมสมาชิกต่อเนื่องถาวร
ในพื้นที่ชนบท หมอประจำตัวคนหนึ่ง จะรับผิดชอบดูแลประชาชนตั้งแต่ 1-2 หมู่บ้าน แล้วแต่จำนวนประชากรของแต่ละแห่ง ส่วนชุมชนเมืองก็ประมาณ คนละ 1-2 คุ้มหรือละแวกถนน ละแวกบ้าน ย่าน ซอยต่างๆ คอนโดมิเนียม และพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร จำนวนหมอประจำตัวทั้งประเทศจะมีประมาณ 55,000 คน หมอประจำตัว 10-15 คน จะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นที่ปรึกษา เป็นทีมวิชาการที่สนับสนุน เป็นครูผู้พร่ำสอนเพิ่มเติมความรู้ทางการแพทย์และการสาธารณสุข รวมแพทย์เวชศาสตร์ทั้งหมดจำนวน 4,500 คน
จากการจัดระบบดังกล่าว หมอประจำตัว 55,000 คน, ผู้ช่วยหมอประจำตัว (อสม.) 1 ล้านคน, แพทย์จำนวน 4,500 คน จะร่วมกันทำงานดูแลสุขภาพประชาชนจำนวน 65 ล้านคนอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์สุดท้ายคือประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบทำให้เจ็บป่วยน้อยลง และเมื่อเจ็บป่วยก็มีระบบดูแลครบวงจรอย่างสุดซอยนี่แหละ
“หมอประจำตัวทั่วไทย"
ผู้เขียน : นพ.นิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.นิทัศน์ รายยวา
- 464 views