หารือ 3 ประกาศกรมบัญชีกลาง ด้านสมาคม ขรก. ขอความเห็นใจระงับเรื่อง ด้านแพทยสภา-สธ. ชี้เดินหน้า 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ. มีปัญหา

วานนี้ (18 ต.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวระหว่างการประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีประกาศกรมบัญชีกลางในการควบคุมการเบิกจ่ายยา ซึ่งมีนายชวรัตน์ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม ว่า ข้อร้องเรียนประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.กรณีเจ็บป่วยโรคเรื้อรังต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถานพยาบาลประจำตัวเพียง 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 แห่ง โดยต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2555  2.ข้อกำหนดเกณฑ์การเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และ 3.กรมบัญชีกลางมีประกาศห้ามเบิกจ่ายยาบรรเทาข้อเสื่อม หรือยากลูโคซามีนซัลเฟตในระบบเริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีข้อถกเถียงมาก โดยคณะกรรมาธิการฯ จะรับฟังปัญหาต่างๆ และนำกลับไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส  กล่าวว่าการประกาศของกรมบัญชีกลางทั้ง 3 ฉบับไม่ได้คำนึงผลกระทบของข้าราชการ  อาทิการห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต โดยให้หันไปใช้ยา NSAIDS ซึ่งเป็นยาที่มีความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารและแนวโน้มจะสั่งห้ามจ่ายยาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่มยาที่กรมบัญชีกลางสั่งควบคุมก่อนหน้านี้

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา  กล่าวว่า  การกำหนดให้ 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล ถือว่าน้อยเกินไปทำให้คนไข้เกิดการกระจุกตัว หากจะทำมี 2 ทางเลือก คือ 1.เพิ่ม รพ.ลงทะเบียน เป็น2 แห่ง อาจมี รพ.ใกล้บ้าน และใกล้ที่ทำงานและ 2. กรณีรักษารพ.นอกเหนือจากการลงทะเบียนให้สำรองจ่ายก่อน และไปเบิกจากกรมบัญชีกลาง

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า 1 โรคเรื้อรังต่อ1 รพ. ขัดกับนโยบาย สธ. เรื่องลดความแออัด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปลงทะเบียนที่ รพ.ขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้ สธ. พยายามรักษาผ่านเครือข่าย อย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน( รพช.)  อย่างโรคเบาหวานที่ไม่รุนแรง หากรักษารพ.สต.ได้ก็รักษาแต่หากเจาะเลือด ตรวจภาวะแทรกซ้อนก็อาจมารพ.อำเภอ หรือจังหวัด

ด้าน นายนพงศ์ ศิริขันตยกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การให้ลงทะเบียน 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ. นั้น เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยไปใช้บริการมาก และมีการรับยาซ้ำซ้อน ทำให้จ่ายยามากเกินความจำเป็นจึงต้องควบคุม ซึ่งหากผู้ป่วย 1 รายมีโรคเรื้อรังหลายโรค ก็สามารถรักษา รพ.อื่นได้และหากต้องการย้ายรพ. ก็ทำได้ ไม่ยุ่งยาก

ที่มา: นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 19 ตุลาคม 2555