นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ 1.7 ล้านคน และได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 1.3 ล้านคน ยังเหลือแรงงานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติอีก 4 แสนคน โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม
อธิบดีกกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาตินั้น เมื่อยื่นใบ ทร.38/1 ซึ่งเป็นใบอนุญาตขออยู่ในประเทศไทย จะมีการ ตรวจสุขภาพโดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 600 บาท รวมทั้งมีการทำประกันสุขภาพเสียค่าใช้จ่าย คนละ 1,300 บาท โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแล แต่ประกันสุขภาพของ สธ.นั้นไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีการดูแลรักษาพยาบาลเมื่อแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วยจากการทำงาน หากแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้างจะต้องทำประกันชีวิตให้แก่แรงงานต่างด้าวกับบริษัทเอกชน โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาทต่อปี เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยใช้ประกันชีวิต
"ปัจจุบันการทำประกันชีวิตให้แก่แรงงานต่างด้าวเป็นไปตามความสมัครใจ ของนายจ้าง ซึ่งขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 5,200 คน ที่นายจ้างทำประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้าง ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ รับการคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน ทั้งนี้ สาเหตุที่นายจ้างส่วนใหญ่ไม่ยอมทำประกันชีวิตให้แก่แรงงานต่างด้าว เพราะต่างรอให้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วแรงงานต่างด้าวจะได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม" นายประวิทย์ กล่าว
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและได้รับใบอนุญาตในการทำงานแล้วจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมและอยู่ในฐานะ ผู้ประกันตน โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมรวม 217,972 คน แยกเป็นแรงงานสัญชาติลาว 8,826 คน สัญชาติพม่า 103,799 คน สัญชาติกัมพูชา 40,935 คน และแรงงานชาติอื่นๆ 64,412 คน
ที่มา: นสพ.แนวหน้า วันที่ 17 ตุลาคม 2555
- 1 view