ความพยายามของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็น "มาตรฐานเดียว" ผ่าน "นโยบายสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ" นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้กับคนไทยทั้งประเทศเสียแล้ว

เพราะเมื่อเอาเข้าจริง... กลับพบว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติอีกหลายประการ และความขลุกขลักไม่ราบรื่นในทางปฏิบัตินี้เอง ที่ทำให้การดำเนินการของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญยังอาจจะส่งผลเสียต่อคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาลในอนาคต หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 6 เดือนก่อน ในช่วงแรกหลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพต่อคนไทยทั้งประเทศ ในวันที่ 1 เมษายน 2555 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศ "นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ไม่ถามสิทธิ" โดยให้สิทธิผู้ป่วยทุกระบบประกันสุขภาพที่มีอาการเจ็บป่วยเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเสมอภาคทุกโรงพยาบาลทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน โดยไม่ถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการ

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ประกาศ "นโยบายสร้างมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และประกาศไว้ว่าในอนาคตเตรียมจะขยายผลไปยังกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดทำระบบการใช้ยาในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียว เพื่อให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน โดยนำโปรแกรมตรวจสอบการใช้ยามาใช้ใน 3 กองทุนสุขภาพของประเทศ

หลายคนอาจสงสัยและอยากรู้ว่าเรื่องที่เป็นปัญหาติดขัดในทางปฏิบัติมีอะไรบ้าง?

ความจริง...นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวนี้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ ต่างให้การสนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงยังพบปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติอยู่มาก เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ จะเข้าข่ายนิยาม "เจ็บป่วยฉุกเฉิน" ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหลักเกณฑ์ไว้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์แต่ละคน และแพทย์แต่ละคนก็ยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยหลายรายร้องเรียนว่ายังถูกโรงพยาบาลบางแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล อ้างเหตุผลว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยจำเป็นต้องจ่ายเงินตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ หรือไม่ก็ต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่อื่นแทน

ที่หนักไปกว่านั้น... จนถึงขณะนี้กลุ่มที่ได้สิทธิในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวยังมีเพียงกลุ่มที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงาน/ข้าราชการที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกจำนวนมากที่ตกหล่นเข้าไม่ถึงนโยบายนี้ และหากจะให้พวกเขาเหล่านี้ได้สิทธิดังกล่าวด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน ทว่า...ปัญหาของกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุดมีเสียงโอดครวญแว่วมาจากฟากผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ระบุว่ารู้สึกไม่คุ้มค่ากับการให้บริการแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยแต่ละรายตามระดับความรุนแรงของโรค (ดีอาร์จี) ซึ่งยังเป็นตัวเลขเฉลี่ยที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก เสียงสะท้อนนี้ถึงขั้นทำให้ท่าน "วิทยา บุรณศิริ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงกับไม่สบายใจเร่งรัดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเจรจากับผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนเพื่อหาทางออกแบบวินวิน

เมื่อมาพิเคราะห์ที่นโยบายสร้างมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ก็พบว่า ทั้งสองกลุ่มโรคนี้ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวจริง เพราะก่อนจะมีนโยบายนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ก็ได้รับสิทธิประโยชน์เกือบจะเท่าเทียมกัน จะมีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยก็ตรงที่การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงยาต้านไวรัส สูตรยาที่ให้ผู้ป่วย

ดังนั้น เรื่องนี้เท่ากับรัฐบาลออกแรงน้อยมาก เพียงแค่กำหนดหลักเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสโดยยึดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าให้ยาต้านไวรัสต่อเมื่อผู้ป่วยมีระดับภูมิต้านทานในร่างกาย (CD4) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่ก็ยังมีข้อกังวลในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอีกว่าจะได้สิทธิเป็นมาตรฐานเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิประกันสังคม หรือไม่ เนื่องจากในกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลยังเป็นระบบเบิกจ่ายตรง และไม่มีระบบตรวจสอบเหมือนกับกองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลการให้บริการยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (NAPHA PLUS) ซึ่งทำให้รู้จำนวนผู้ป่วย และรู้ว่ามีการให้แก่ผู้ป่วยยาที่ค่าซีดี4เท่าใด ใช้ยาสูตรพื้นฐานหรือสูตรดื้อยากับผู้ป่วย

แม้ขณะนี้กรมบัญชีกลางจะอยู่ระหว่างพิจารณานำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ แต่เชื่อว่าก็ยังต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็มีปัญหาไม่แพ้กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพราะ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งวิธีการรักษา สิทธิการเลือกรับการรักษา ชนิดยาที่ใช้รักษา การเข้าถึงยา ตลอดไปจนถึงอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เมื่อรัฐบาลไม่สามารถทำให้การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นมาตรฐานเดียวกันได้จริง สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนคือ เปิดให้ผู้ป่วยสามารถย้ายข้ามสิทธิประกันสุขภาพ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาลเท่านั้น เช่น กรณีผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมแต่เกษียณอายุก็ย้ายไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน เป็นต้น แต่วิธีการนี้ดูยังไงๆ ก็ไม่เข้าข่ายว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลแน่นอน

น่าคิดว่า...นิยาม "มาตรฐานเดียวในระบบประกันสุขภาพของประเทศ" ที่รัฐบาลได้ประกาศต่อประชาชนคนไทย จะใช่มาตรฐานเดียวกับที่ประชาชนทั้งประเทศต้องการหรือไม่

แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ ระวัง! รัฐบาลจะเสียคะแนน หากทำไม่ได้อย่างที่ประกาศไว้...

--มติชน ฉบับวันที่ 6 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--