ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมงานที่เกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกหลายครั้ง ทั้งศาสตร์แผนไทยและศาสตร์แผนจีน และทุกครั้งก็จะขอลองใช้ศาสตร์ทางเลือกเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยผึ้ง การตอกเส้น หมอแมะจับชีพจรเพื่อตรวจสุขภาพ หรือแม้แต่ทดลองฝังเข็ม ซึ่งมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ผู้เขียนก็ชอบและสนใจเสียด้วย ดังนั้น เมื่อมีโอกาสก็จะขอใช้บริการและทดลอง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตัวเอง
ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2555 ซึ่งจบลงไปแล้ว กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของ คุณหมอสุพรรณ ศรีธรรมมา หัวเรือใหญ่ รายงานความสำเร็จด้วยยอดผู้เข้าร่วมงาน 5 วัน กว่า 150,000 คน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสนใจด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาด้วย "การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก"
มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นอกจากความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีองค์กรเอกชนไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิหมอชาวบ้าน มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) รวมถึงบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดงานให้ยิ่งใหญ่สมกับการประชุมวิชาการประจำปีและการประชุมการแพทย์ลุ่มน้ำโขง อันเป็นการขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก เพื่อพัฒนาการสร้างและจัดการองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ โดยปีนี้ เขามีหัวข้อหลักว่า "นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก"
ความหมายการแพทย์ทางเลือกสำหรับประเทศไทย สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ให้นิยามไว้ หมายถึง การแพทย์ที่ไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านไทย การแพทย์อื่นๆ ที่เหลือถือเป็น "การแพทย์ทางเลือก" ทั้งหมด และมีการจำแนก การแพทย์ทางเลือก ตามการนำไปใช้ ประกอบด้วย
Complementary Medicine คือ การแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์ แผนปัจจุบัน
Alternative Medicine คือ การแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน
จากรายงานการศึกษาของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (ตุลาคม 2540) ทำการส่งแบบสอบถามไปยังหน่วยงาน กรม กอง ทางวิชาการในส่วนกลาง และหน่วยงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขที่คาดว่าเกี่ยวข้อง จำนวน 253 หน่วยงาน เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือกจากหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว พบว่า ศาสตร์ที่คนไทยรู้จัก ให้ความศรัทธาและมีความนิยมใช้จำนวน 25 ศาสตร์ คือ สมุนไพร การนวด สมาธิ/โยคะ การนวดศีรษะ รำมวยจีน/ไทเก็ก พลังรังสีธรรม สมาธิหมุน ชีวจิต พลังจักรวาล/โยเร การฝังเข็ม การฟังดนตรี การสวดมนต์/ภาวนา อบสมุนไพร การใช้เครื่องหอม/ยาดม การใช้วิตามิน/เกลือแร่/อาหารปลอดสารพิษ ดื่มน้ำผัก/ผลไม้ การสวนล้างพิษ การดูหมอ/รดนำมนต์ ศิลปะบำบัด การผ่อนคลายแบบ Biofeedback การใช้คาถา/เวทมนต์ การเพ่งโดยการใช้แสง สี เสียง การเข้าทรงนั่งทางใน การใช้เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า การใช้วิชาธรรมจักร
นอกจากนี้ยังมีการนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกรูปแบบต่างๆ ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆ ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ชัดเจนที่สุดคือ กลุ่มเพื่อนมะเร็งที่มีการนำเอาการแพทย์ทางเลือกทั้งในรูปแบบของอาหารสุขภาพ การนั่งสมาธิ การใช้หินบำบัด ฯลฯ มาใช้ร่วมด้วย (ข้อมูล : สำนักการแพทย์ทางเลือก)
เรื่องการแพทย์ทางเลือก นอกจากศาสตร์โบราณของไทยแล้ว ศาสตร์ด้านแพทย์แผนจีน ก็ได้รับความสนใจจากคนไทยมากเช่นกัน ผู้เขียนมีโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ The First Acupuncture Forum ประจำปี 2555 ขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการประชุมด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่มีมาตรฐานระดับสากล
ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ผ่านการอบรมหรือเรียนเพิ่มเติมด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยเน้น "การฝังเข็ม" เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งน่าสนใจในการเป็นแพทย์ทางเลือกเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นปัญหาทั้งในประเทศไทยและของโลก
ในครั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพร โรงพยาบาลนครปฐม โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค และมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเฉิงตู ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของทั้งสองประเทศในอนาคต
การฝังเข็มอยู่ในศาสตร์แพทย์ทางเลือก ซึ่งตรงตามความหมายของคำ ขึ้นอยู่กับผู้รับการรักษา ที่จะเลือกวิธีการรักษาด้วยตนเอง หรือจะใช้การรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้ ด้านความน่าเชื่อถือของศาสตร์การฝังเข็มนั้น ข้อมูลจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในปี 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มจากทั่วโลก กำหนดรายชื่อโรคที่ยอมรับในการรักษาหรือบรรเทาอาการด้วย วิธีฝังเข็ม1.การรักษาที่ได้ผลเด่นชัด เป็นพิเศษอาการปวด ปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก สันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะ มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือก่อนการมีประจำเดือน ปวดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท หรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลัง การผ่าตัด ปวดไมเกรน อาการซึมเศร้า
โรคอาการทั่วไป อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศถดถอย ภูมิแพ้ หอบหืด หวาดวิตกกังวล นอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง แพ้ท้อง คลื่นเหียนอาเจียน การเลิกเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด
2.การรักษาที่ให้ผลดี อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) อาการวิงเวียนศีรษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความ เครียด
3.การรักษาที่ได้ผล ท้องผูก ท้องเดิน การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ เรอบ่อย ปัสสาวะไม่รู้ตัว ไม่คล่อง ไซนัสอักเสบ หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ
อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของผู้เขียน "แพทย์ทางเลือก" ทั้งศาสตร์ไทยและจีน นับเป็นศาสตร์ทางเลือกอย่างหนึ่งเพื่อการแสวงหา "ทางรอด" ให้กับผู้ป่วย รวมถึงการใช้เป็นทางเลือกเพื่อการป้องกันโรค ซึ่งผู้ป่วยหรือประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แบบใดในการดูแลสุขภาพของตนเอง
นั่นหมายถึง..ทางเลือกเพื่อให้ "รอด" ชีวิต ด้วยการเลือกใช้ "แพทย์ทางเลือก" เป็นสิทธิที่ท่านหรือพวกเราจะเลือกได้นะครับ
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 4 ตุลาคม 2555
- 363 views