บอร์ด สปสช.เตรียมถก ทบทวนแก้ไข ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1 ต.ค.นี้ หลัง สตง.ส่งหนังสือท้วงการเพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเป็น 4 แสนบาท เหตุเป็นแค่การช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ใช่ชดเชยความเสียหาย ด้าน "หมออำนาจ" ยันทำได้ พร้อมหนุนรัฐบาลเดินต่อ เผยหากชะงัก เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชนขอแก้ไขกฎหมายแทน ขณะที่ "เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์" จี้ เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เยียวยาผู้ป่วยเสียหายอย่างแท้จริง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม นี้ จะมีวาระการพิจารณารายงานการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายหลังจากที่ สตง.ได้มีหนังสือถึงประธาน บอร์ด สปสช. เพื่อขอให้ทบทวนการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินเช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555นี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอัตราจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง โดยบางรายการอัตราขั้นต่ำสูงกว่าอัตราขั้นสูงของข้อบังคับเดิม และเห็นว่ากรณีนี้ยังเป็นเพียงแค่การจ่ายเงินเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อชดเชยความเสียหาย

ทั้งนี้ทาง สตง.จึงขอให้ สปสช.ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 42 เช่นเดิม คือขอให้หาผู้กระทำผิด และไล่เบี้ยตามมาตรานี้ภายหลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว พร้อมกันนี้ขอให้มีการกำหนดมาตรการเพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด พิจารณาดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในข้อบังคับฯ ตามมาตรา 42 นี้

ด้าน นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ในฐานะบอร์ด สปสช. ซึ่งผลักดันการแก้ไขเพื่อเพิ่มเพดานการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียหายจากการรักษาเบื้องต้น ว่า แม้ว่า สตง.จะมีความเห็นดังกล่าว แต่ความเห็นส่วนตัวยังยืนยันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 นี้ ในการเพิ่มวงเงินชดเชยให้กับผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาจาก 2 แสนบาทเป็น 4 แสนบาท พร้อมกับขยายสิทธิ์การช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ให้ครอบคลุมไปยังทุกสิทธิ์รักษาพยาบาลต่อไป เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าการแก้ไขมาตรานี้ไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่อาจไม่สามารถเบิกจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง หากเกิดความเสียหายกับผู้ป่วยขึ้น โดย สปสช.ต้องเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือนี้ เห็นว่าไม่เป็นปัญหาเพราะสุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายและต้องได้รับความช่วยเหลือ

"เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ สปสช. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึงรัฐบาล เพราะเชื่อว่าการปรับเพิ่มเพดานเงินช่วยเหลือสามารถทำได้เพราะเป็นแค่การแก้ไขกฎหมายเล็กๆ เพียงแค่มาตราเดียว ซึ่งหากรัฐบาลเห็นด้วยสามารถเสนอสภาฯ แก้ได้เลย จึงอยู่ที่รัฐบาลจะรับหรือไม่เท่านั้น" บอร์ด สปสช. กล่าว และว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเรื่องนี้ยังค้างอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเข้า ครม. ซึ่งท่านคงอยากที่จะฟังความเห็นของบอร์ด สปสช. ก่อน อย่างไรก็ตามหากการแก้ไขกฎหมายนี้ช้ามาก ทางแพทยสภาอาจนำเสนอขอแก้ไขกฎหมายเองโดยรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วย หรือไม่ก็เสนอผ่านกรรมาธิการสาธารณสุขให้ สส.เป็นผู้เสนอแทน

ขณะที่ นางสาวปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายการแพทย์ กล่าวว่า การที่ นพ.อำนาจ บอกว่าสามารถการแก้ไข มาตรา 41 เพื่อเพิ่มวงเงิน และครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาสามารถทำได้นั้น คงจะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนายกแพทยสภาคนเดียวเท่านั้น เพราะตามกฎหมายเฉพาะของแต่ละกองทุนนั้นชี้ชัดอยู่แล้วว่าไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นจึงขอเร่งรัดไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ตั้งกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายและเร่งแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข ให้แล้วเสร็จทันเปิดสมัยการประชุมเร็วๆ นี้มากกว่า ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันที่ 1 ตุลาคม 2555