"นักวิชาการ-เอ็นจีโอ" ออกโรงยัน นโยบายภาครัฐควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยามาถูกทาง ชี้แม้สหรัฐยังเดินหน้าเน้นใช้ยาสามัญ ซ้ำมีแนวโน้มใช้เพิ่ม พร้อมเปิดข้อมูลเฉพาะค่ายาสูงถึง 70% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ แถมแยกเป็นยานำเข้า 77% ยาสามัญ 23% ชี้ที่ผ่านมา บ.ยาข้ามชาติทำกำไรเกิน สปสช.เผย หลังรวมมือ อภ. จัดซื้อยาประหยัดงบ1.3 หมื่นล้านบาท

ภายหลังจากที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนนโยบายรัฐที่มีผลกระทบการรักษาพยาบาลและความก้าวหน้าด้านการแพทย์ของไทยในอนาคต ทั้งการจำกัดงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบสวัสดิการข้าราชการ รวมไปถึงการเน้นใช้ยาสามัญในสถานพยาบาลของภาครัฐ

ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า ความกังวลใจของบริษัทยาข้ามชาติที่อ้างว่าประเทศจะมีระบบสุขภาพถดถอยหากใช้แต่ยาชื่อสามัญนั้น น่าจะไม่ใช่ความห่วงใยอย่างแท้จริงเพราะขนาดประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังพยายามเพิ่มการใช้ยาชื่อสามัญจากข้อมูลขององค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริการ ชี้ว่า 8 ใน 10 ใบสั่งยาในสหรัฐฯ เป็นยาชื่อสามัญและมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการหันมาใช้ยาชื่อสามัญนับเป็นความฉลาดของผู้บริหารที่จะทำให้เกิดการใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าและความกังวลว่ายาที่จัดซื้อถูกลงไม่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องไม่จริง

"หากต้องการยืนยันข้อมูลว่านโยบายรัฐในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยากระทบธุรกิจยาจนอยู่ไม่ได้จริง ทางเดียวที่จะพิสูจน์คือบริษัทยาเหล่านี้ต้องออกมาให้ข้อมูลต้นทุนเช่นเดียวกับสินค้าปัจจัยสี่อื่นๆ ไม่ใช่ดำเนินการเหมือนที่ผ่านมาทุกในการคัดค้านการทำให้โครงสร้างราคายาเปิดเผยและโปร่งใส ไม่ใช่ดังที่สมาคมพรีม่าพยายามขัดขวางทุกครั้งที่หน่วยงานรัฐขอให้เปิดเผยโครงสร้างราคายา"

ชี้คุมค่ายายังมียาใหม่เข้า

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การกำหนดและควบคุมราคายาเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้วในการควบคุมงบประมาณและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ซึ่งการต่อรองราคาถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะกำกับการมุ่งทำกำไรของบริษัทยาข้ามชาติที่มากเกินไปได้ รวมถึงการเอาแต่ได้ของบริษัทยาข้ามชาติที่นำความเจ็บป่วยของผู้ป่วยมาเป็นสินค้า ซึ่งที่มีการออกมาระบุว่านโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา

ส่วนกรณีที่ว่าจะทำให้ไม่มียานวัตกรรมใหม่เข้าประเทศนั้น เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นก่อนหน้านี้ โดยในช่วงที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) มีบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่งประกาศที่จะไม่นำยาเข้ามาขายในไทย และขอถอนทะเบียนยา 10 รายการ แต่เราก็สามารถหายาอื่นมาทดแทนได้ ทั้งยังเป็นราคาที่เหมาะสม โดยบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจนถึงขณะนี้บริษัทยาข้ามชาติต่างๆ ก็ยังนำยาใหม่เข้ามาขายในประเทศไทยเช่นเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการทำกำไรที่เกินกว่าความเป็นจริงของบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเร็วๆ นี้ คือกรณีที่บริษัทยาข้ามชาติที่ผลิตยาแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพได้ประกาศลดราคายาลดถึง 30% ภายหลังจากที่องค์การเภสัชกรรมประกาศจะผลิตยาแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพออกมาจำหน่ายโดยเป็นยาสามัญ หรือแม้แต่กรณีของยาต้านไวรัสเอชไอวีโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ ซึ่งในอดีตผู้ติดเชื้อที่ต้องใช้ยานี้ ต้องจ่ายค่ายาสูงถึง 2,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี กลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาอย่างมาก แต่เมื่อประเทศไทยประกาศทำซีแอลรายการยานี้ บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาก็ยอมปรับลดราคายาลง ทำให้ค่าใช้จ่ายยารายการนี้เหลือเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี แสดงว่ายาได้กลายเป็นสินค้าที่ถูกตั้งราคาเพื่อทำกำไรตามใจชอบของบริษัทยา จึงสามารถลดราคาได้ถึงขนาดนี้ ซ้ำยังสามารถทำกำไรได้อยู่

เผยต้องคุมเหตุงบยาพุ่ง

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า การที่ภาครัฐต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เนื่องจากข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่ผ่านมาพบว่า เฉพาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาสูงถึง 70% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพแล้ว โดยในจำนวนนี้เมื่อแยกเป็นกลุ่มยานำเข้าและยาสามัญในประเทศ พบว่าเป็นสัดส่วนยานำเข้าสูงถึง 77% แต่เป็นยาสามัญเพียงแค่ 23% เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตก่อนมี พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ขณะนั้นสัดส่วนยานำเข้าอยู่เพียงแค่ 34% ส่วนยาสามัญสูงถึง 66% จึงต้องควบคุมให้มีความเหมาะสม ดังนั้นการที่สมาคมบริษัทยาข้ามชาติออกมาเสนอให้ยกเลิกกลไกการควบคุมราคายาจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะข้อเสนอที่สมาคมยาข้ามชาติจะขอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกควบคุมราคายา เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน

"ขอให้ผู้ที่อยู่ในกลไกควบคุมราคายาที่สมาคมยาข้ามชาติอ้างว่า ทำให้ระบบสุขภาพลดคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาล อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารยา คณะอนุกรรมการบัญชียาหลัก อนุกรรมการควบคุมราคายา เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ออกมาปกป้องนโยบายที่ดีเช่นนี้ ช่วยกันออกมาให้ข้อมูลเรื่องยาที่ถูกต้องกับสังคมว่า การคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติได้คำนึงถึงคุณภาพและความจำเป็น แต่อาจไม่สนองตอบบริษัทยาทำให้กำไรบริษัทยาลดลง"  ประธาน กพอ. กล่าว

เผยใช้ยาสามัญช่วยประหยัด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่สปสช.ได้ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวม เพื่อพัฒนาการบริหารยาและเวชภัณฑ์โดยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) นั้น พบว่าผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552-สิงหาคม 2555 สามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศได้ถึง 13,953 ล้านบาท และมีผลต่อเนื่องในการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนด้วย

"ราคาที่ลดลงจากการสั่งซื้อในปริมาณมาก และการลดต้นทุนจากเทคโนโลยีการบริหารจัดการพัสดุในระบบ VMI ซึ่งเข้าไปช่วยบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ของลูกค้าให้มีคลังยาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม ลดการสูญเสียจากการทำลายยาที่รพ.ส่งคืนยาที่หมดอายุ ประเทศชาติลดการสูญเสียทรัพยากรจากการทำลายยาหมดอายุได้"

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กันยายน 2555