ผลวิจัยสวรส.พบแรงงานต่างด้าวเข้าอาศัยในเขตเมืองชั้นใน กทม.มากขึ้นแนะรื้อทั้งระบบทะเบียนประชากรต่างด้าว 3หน่วยงานใหม่เหตุไม่สะท้อนจำนวนที่แท้จริงขณะพบแม่ต่างด้าว 70%ไม่พร้อมตั้งครรภ์จี้รัฐสร้างระบบสุขภาพรองรับแรงงานต่างด้าว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร และ PATH แถลงผลงานวิจัยการคาดประมาณประชากรและการประเมินอนามัยแม่และเด็กประชากรข้ามชาติในกรุงเทพมหานคร
ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ศึกษาข้อมูลประชากรต่างด้าวใน 3 สัญชาติได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยยึดข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีการสำรวจสำมะโนประชากรมากำหนดขอบเขตของพื้นที่อาศัยซึ่งหนาแน่ที่สุดโดยพบมี 21 จุดใน 19 เขตกทม.
การศึกษาได้ลงพื้นที่สำรวจและพบว่ามีประชากรชาวต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย 1,910 คน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานอายุประมาณ 15-49 ปี และเป็นวันเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีประมาณ 5.7% ของชาวต่างด้าวที่พบทั้งหมดและยังพบว่ากว่า 88% มีบัตรต่างด้าว 11 % ไม่มีบัตรและอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย และพบว่าชาวต่างด้าวจำนวน 1,261 คนหรือ 69% มีสิทธิ์ในการประกันสุขภาพ และในจำนวน 559 คนไม่มีสิทธิ์ใดๆ
"พบว่า การรวมกลุ่มของประชากรข้ามชาติมีความหลากหลายมาก ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ตลอด พื้นที่หอพัก ชุมชนคนไทยและชุมชนแรงงาน เช่นบริเวณใกล้ที่ตั้งของโรงงาน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาเพราะต้องการมาทำงานและมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม" ดร. กฤตยา กล่าว
ดร.กฤตยา กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาเราสามารถรู้จำนวนประชากรข้ามชาติได้จาก ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ สำนักงานสถิติฯ ข้อมูล
จากการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และข้อมูลทะเบียนประชากรต่างด้าว จากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่ทั้ง 3 หน่วยงานก็มีข้อจำกัดไม่มีข้อมูลใหม่ล่าสุดเช่นข้อมูลของกรมการปกครองเป็นตัวเลขสะสมของแรงงานผ่อนผันรายปี แรงงานที่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งไม่มีการติดตามว่าอยู่ในประเทศไทยหรือ กลับไปอยู่ประเทศต้นทางแล้ว ทำให้ไม่สามารถบอกจำนวนที่แท้จริงได้ ดังนั้น เสนอว่ารัฐบาลควรจะมีการจัดทำระบบสำรวจประชากรต่างด้าวอย่างเป็นระบบและจริงจัง
"เรื่องนี้มีความสำคัญหากในอนาคตจะมีการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าอนาคตจะมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในเมืองชั้นในของไทยจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดทำทะเบียนราษฎร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการบริการสุขภาพ " ดร. กฤตยากล่าว
น.ส.ทัศนัย ขันตยาภรณ์ เจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) ในฐานะผู้วิจัย กล่าวว่า จากการศึกษาดังกล่าว ได้มีการเก็บข้อมูลด้านอนามัยแม่และเด็กของผู้หญิงต่างด้าวพบว่ามีจำนวน 475 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าซึ่งมีบัตรประจำตัวถูกต้องตามกฎหมาย พบว่าในจำนวนนี้มีผู้หญิงตั้งครรภ์จากความผิดพลาดในการกินยาคุมกำเนิดถึง 72% และผิดพลาดจากการฉีดยา 18% ทำให้ตั้งครรภ์ในภาวะที่ยังไม่พร้อมเพราะยังต้องใช้แรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวจะมีค่าแรงเป็นรายวัน ถ้าหยุดงานก็ขาดรายได้ แต่เมื่อสอบถามถึงความต้องการมีบุตร ส่วนใหญ่มีความต้องการ เพียงแต่มีในเวลาที่ไม่พร้อม
"ที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนย้ายของต่างด้าวทำได้อย่างเสรีมาก เพราะเราไม่สามารถรู้ถึงกระบวนการที่เขามีการเคลื่อนย้ายกัน แต่จากการสอบถามแม่ต่างด้าวบอกว่า ถ้าเลี้ยงลูกไม่ได้ก็จะมีการฝากเพื่อนกลับไปส่งให้ญาติเลี้ยงที่ประเทศต้นทาง บางรายมีนายหน้าจัดส่งให้ ค่าบริการ 3,000 - 6,000 บาท และบางรายใช้บริการผ่านบริษัทรับส่งคนข้ามแดน โดยติดต่อญาติมารับมีราคาแค่ 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของการลักลอบเข้าออกประเทศไทยได้อย่างเสรี"
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 กันยายน 2555
- 12 views