นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เวลา 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้มีนโยบายพัฒนาระบบประกันสังคม เพื่อมอบประโยชน์คืนสู่สังคมในหลายเรื่อง เช่น การนำเงินกองทุนประกันสังคมมาให้ทุนเรียนแพทย์แก่บุตรหลานผู้ประกันตน ตั้งศูนย์ฟอกไตของประกันสังคมในโรงพยาบาลเครือข่าย จัดให้มีรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อส่งตัวผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยไปรักษาในเวลาอันรวดเร็ว จัดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ไม่เคยปรากฏผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และบอร์ด สปส.ก็ไม่ได้ช่วยผลักดันนโยบายเหล่านี้ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ทั้งๆ ที่ตนมีเจตนาที่ดีต้องการให้ประกันสังคมนำเงินมาทำประโยชน์คืนแก่ผู้ประกันตน เพราะหากประกันสังคมได้รับการยกระดับ จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 เพิ่มขึ้น
"อนาคตผมอยากให้กรรมการประกันสังคมที่มาจากฝ่ายต่างๆ เช่น นายจ้าง ลูกจ้าง เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ตั้งใจพัฒนาระบบประกันสังคม อย่างจริงจัง ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ขณะนี้ระเบียบการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างยังมีช่องโหว่ ทำให้เกิดการล็อบบี้โหวตลงคะแนนขึ้น เช่น การเลือกตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร (บอร์ด) ใช้วิธี 1 สหภาพแรงงานก็ลงได้ 1 คะแนน ทั้งๆ ที่บางสหภาพมีสมาชิกแค่ 30 คน สหภาพอื่นๆ มีสมาชิกนับร้อยนับพันคน แต่ก็ลงได้แค่ 1 คะแนนเท่ากัน มองดูแล้วไม่น่าจะเป็นธรรม ปัจจุบันก็มีสหภาพแรงงานเกิดขึ้นเยอะมาก บางสหภาพแรงงานตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อื่นไม่ได้ทำหน้าที่มุ่งดูแลแรงงานอย่างจริงจัง" นายเผดิมชัยกล่าว
นายเผดิมชัยกล่าวว่า จะมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปศึกษาเรื่องการปรับปรุงระเบียบการสรรหากรรมการประกันสังคมฝ่ายต่างๆ เช่น นายจ้าง ลูกจ้าง โดยจะให้ปรับปรุงเรื่องของคุณสมบัติสหภาพแรงงานที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง จะต้องเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลแรงงานอย่างแท้จริง ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างที่เข้ารับการเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เข้าใจถึงระบบประกันสังคม รวมทั้งวาระการดำรงตำแหน่งไม่ควรให้นั่งติดต่อกันหลายวาระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการนำเงินกองทุนประกันสังคมวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท มาจัดทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบและเสียดอกเบี้ยแพงนั้น มีแนวคิดมาตั้งแต่ยุคนายไพฑูรย์ แก้วทอง และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งอดีตรัฐมนตรีทั้งสองคนมีนโยบายจัดโครงการนี้ โดยให้แรงงานใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ต่อมาเมื่อถึงยุคของนายเผดิมชัยมีแนวคิดจัดโครงการนี้ โดยให้แรงงานชำระหนี้ผ่านการหักบัญชีเงินเดือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สูญ
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 24 กันยายน 2555
- 6 views