กมธ.แรงงานร่วมกับสสส.และภาคเครือข่าย หาทางคปลดล็อคข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติลดความเหลื่อมล้ำ พบตัวเลขแรงงาน 2 ล้านคน มีประกันสังคมแค่ 1 ใน 10 แถมได้รับสิทธิ์ไม่เท่าเทียมเพราะไม่กล้าเรียกร้อง เข้าไม่ถึงข้อมูล
วันที่ 21 ก.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับองค์กรต่างๆ อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และคณะทำงานพัฒนารูปแบบกลไกเพื่อการเข้าถึงนโยบายหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส) จัดเสวนาวิชาการ “ปลดล๊อคข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ทิศทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”
ว่าที่ ร.ต.สุพล สินธุนาวา ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการฯแรงงาน กล่าวว่า กรรมาธิการได้ติดตามข้อมูลด้านแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย พบว่าประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่ามีนายจ้างส่วนหนึ่งยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อดูแลสิทธิด้านสุขภาพ ดังนั้นในอนาคตที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน (AEC) จึงเป็นต้องทบทวนปรับสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่าข้อมูลตัวเลขจากสภาพัฒน์ระบุว่าอัตราการเพิ่มของคนไทยจะไม่เกิน70ล้านคน โดยเวลานี้อัตราตัวเลขการเกิดและการตายอยู่ในสัดส่วนเท่ากัน ฉะนั้นกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มผู้สูงอายุเพราะมีการดูแลสุขภาพดีขึ้น แต่กลุ่มวัยแรงงานจะทยอยลดลงดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ แรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั้งยืน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความต้องการสิทธิบางอย่างที่แตกต่างจากแรงงานภายในประเทศ ดังนั้นการออกแบบระบบประกันสังคมให้เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และการทำความเข้าใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างข้ามชาติที่ต้องมีข้อมูลเท่าเทียมกัน โดยทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาช่วยกันสร้างระบบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานในการดูแลป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากการทำงาน หรือโรคที่ป้องกันได้ เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการทำงานอันตรายหรืองานหนัก ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ขาดสวัสดิการที่เหมาะสมส่งผล กระทบต่อคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างสวัสดิการและการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้เกิดความสมดุลทั้งระบบ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และบริการของรัฐอย่างมีคุณค่า และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับที่เราอยากเห็นแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศได้รับการดูแลในทำนองเดียวกัน
ขณะที่นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ผู้ประสานงานคณะทำงานพัฒนาระบบกลไกประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับ แรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า จากจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเกือบ 2 ล้านคน พบว่ามีแรงงานเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และจำนวนนี้ยังพบปัญหาสิทธิที่ไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น สิทธิการลาคลอด สิทธิชดเชยการว่างงาน สิทธิในเงินสงเคราะห์ชราภาพ ทั้งที่มีการจ่ายเงินสมทบเหมือนแรงงานในระบบทั่วไป โดยปัญหาเกิดจากแรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยังมีปัญหาการใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐ นอกจากนี้ยังพบว่านายจ้างส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยอ้างเหตุผลต่างๆซึ่งไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายด้วย
ด้านนายอารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกับสังคม (สปส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติต้องผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะ ที่ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ภาครัฐและเอกชน โดยนโยบายด้านสุขภาพต้องได้รับความสำคัญเช่นเดียวกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม โดยในปี2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเอาเซียน นโยบายด้านแรงงานจะมีความสำคัญและต้องเกิดความเท่าเทียมกันไม่ แบ่งแยกว่าเชื้อชาติใด และจะไม่มีคำว่า นโยบายเพื่อแรงงานข้ามชาติ หรือต่างชาติ อีกต่อไป แต่ต้องเป็นนโยบายด้านแรงงานของคนทั้งอาเซียนที่เท่าเทียมและ พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มา: http://www.komchadluek.net
- 12 views