กรณีที่นายบุญมี จันทหาร ร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าโรงพยาบาลลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นต้นเหตุให้ภรรยาและบุตรในครรภ์เสียชีวิตขณะรอคลอด เมื่อวันที่ 8 กันยายนนั้น
เมื่อวันที่ 18 กันยายน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ ตั้งตรงไพโรจน์ นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แถลงว่า ขณะนี้ สธ.ได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่าย โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีการร้องเรียน ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการพบว่า สาเหตุการ เสียชีวิตเกิดมาจากภาวะน้ำคร่ำเข้าสู่กระแส เลือด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ มีอุบัติการณ์เกิดขึ้น 1 ต่อ 8,000 ถึง 1 ต่อ 80,000 ของการคลอด และไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ เพราะเป็น อาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันระหว่างเจ็บครรภ์คลอดจนถึงการคลอด ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ไปถึงโรงพยาบาลก็เสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมง และข้อสรุปนี้ยืนยันได้จากผลการผ่าชันสูตรศพที่สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พบเซลล์ชิ้นส่วนเด็กที่อยู่ในน้ำคร่ำปน อยู่ในปอดของแม่ ซึ่งเป็นภาวะน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด (Amniotic fluid embolism syndrome) ดังนั้น จึงไม่ใช่เป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลประจำห้องคลอดแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของผู้เสียชีวิตรายนี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 ที่จะมี การขยายวงเงินเพิ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้หรือไม่ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแบบเดิม เนื่องจาก มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบให้ขยายวงเงินกรณีเสียชีวิตจาก 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท และพิการ จากเดิมจ่าย 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท และติดเชื้อรุนแรงและกรณีความเสียหาย อื่นๆ ปรับจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555
ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวถึงการช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตว่า สธ.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาให้การช่วยเหลือตาม พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 โดยแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีของแม่และลูก คณะกรรมการจะประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 26 กันยายนนี้ ซึ่ง ผลการตรวจสอบการเสียชีวิตคงไม่แตกต่างจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่แจ้งผลเบื้องต้นต่อ สธ.ส่วนอีกกรณีคือ การช่วยเหลือ ซึ่งเป็นไป ตามมาตรา 41 วงเงินช่วยเหลือสูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งถือเป็นการเยียวยาครอบครัวโดยไม่ต้องรอผลพิสูจน์ความผิดถูก
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 19 กันยายน 2555
- 289 views