"วิทยา" ย้ำร่วมจ่าย 30 บาท เป็นสิทธิของประชาชนจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ ยันไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับการบริหารของโรงพยาบาลเอง เผยประชาชนโทร.สอบถามผ่านสายด่วนแค่78 สาย หมอจวก 30 บาท ไม่ช่วยอะไรแช่แข็งงบรายหัว 3 ปีไม่ขยับกระทบหนักอุปสรรคใหญ่ในการบริการที่มีประสิทธิภาพ
วานนี้ (3 ก.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการร่วมจ่าย 30 บาท ว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาทเพื่อยกระดับการรักษา ที่เริ่มดำเนินการจัดเก็บเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2555 เบื้องต้นได้รับรายงานว่ายังไม่พบปัญหาในการดำเนินงานแต่อย่างใด และข้อมูลจาก สปสช.รายงานว่า มีประชาชนโทร.เข้ามาที่สายด่วน สปสช.1330 ตั้งแต่วันที่ 1-3 ก.ย. 2555 เพื่อสอบถามเรื่องการร่วมจ่ายเพียง 78 สายจาก 943 สาย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป
"ในการร่วมจ่าย 30 บาทนั้นหากประชาชนที่ไม่ต้องการจะร่วมจ่ายสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโรงพยาบาลแต่ละแห่งยืนยันว่า ไม่มีปัญหายุ่งยากเรื่องการจัดทำบัญชี เหมือนที่ฝ่ายค้านกล่าวหา การนำไข่ไปชั่งกิโลกรัมขายยังยากกว่า" นายวิทยา กล่าวต่อว่า
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่การรีแบรนด์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเก็บหรือไม่เก็บ 30 บาทเนื่องจากไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลมีสถานะทางการเงินดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากในการดำเนินงานของโรงพยาบาล รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่จะกระทบถึงการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่แท้จริงคือ การที่นายกรัฐมนตรีไม่กล่าวถึงการประกาศไม่เพิ่มงบรายหัว สปสช.เป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งส่งผลให้รายรับของโรงพยาบาลหายไปราว 15-20% เนื่องจาก1.มีการเพิ่ม เงินเดือน 6% ทุกปี ทำให้งบหายไปในทุกๆ ปี 2.ค่ายาและเวชภัณฑ์แพงขึ้น และ 3.อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการบริการที่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาล
ที่มา: นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน 4 ก.ย.55
- 3 views