ฟื้นเก็บ 30 บาท เริ่มแล้ว 1 กันยายนภาคประชาชนเดินหน้าค้าน ชี้เหตุผลนโยบายไร้น้ำหนัก แถมเป็นอุปสรรคทำคนจนเข้าไปไม่ถึงการรักษา เตรียมรณรงค์ทำบัตรไม่ประสงค์จ่าย 30 บาทแจกชาวบ้าน ด้าน รพ.รามาฯ - ประกาศไม่เก็บ 30 บาทยุ่งยากตรวจสอบสิทธิ ขณะที่ "ผอ.รพ.สิชล" ระบุรายได้ไม่คุ้ม ซ้ำสร้างความขัดแย้ง ส่วน "รองเลขาฯ แพทยสภา" หนุนเดินหน้าเก็บ 30 บาท ชี้การร่วมจ่ายทำระบบหลักประกันสุขภาพยั่งยืน

รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ฟื้นนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท กลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขการเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยา และเป็นไปตามความสมัครใจ หลังจากรัฐบาลภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ประกาศยกเลิกจัดเก็บในปี 2549 นานกว่า 5 ปี

การกลับมาเริ่มเก็บค่ารักษา 30 บาทอีกครั้ง มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน โดย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บค่าบริการ 30 บาท เนื่องจากเหตุผลที่ระบุว่าเป็นไปเพื่อลดการเข้าใช้บริการที่ไม่จำเป็น เพราะเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลารับบริการก่อนและหลังยกเลิกจัดเก็บ 30 บาท ปรากฏว่าจำนวนการรับบริการไม่ได้ต่างกันมาก เพราะประชาชนหากไม่ป่วยก็คงไม่อยากไปโรงพยาบาลอยู่แล้ว

ส่วนเหตุผลเพื่อเกิดการร่วมจ่ายนั้นที่ผ่านมาประชาชนได้ร่วมจ่ายอยู่แล้วผ่านภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ การจ่ายค่ารถค่าเดินทางไปสถานพยาบาล และการขาดรายได้จากการหยุดงานที่รวมไปถึงรายได้ของญาติที่ดูแลด้วย ซึ่งหากมีการเก็บ 30 บาทอีกจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ชี้เก็บ 30 บาทไม่คุ้มค่า

นางสาวสุภัทรา กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล หากดูย้อนหลังช่วง 5 ปีตั้งแต่ยกเลิกเก็บ 30 บาท จะเห็นได้ว่าระบบได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์และการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยเอดส์ ไต เป็นต้น อีกทั้งเงิน 30 บาทที่จัดเก็บได้ถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณปีละแสนล้านบาท ซ้ำเป็นเบี้ยหัวแตก เมื่อเปรียบเทียบกับภาระของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการทำเอกสารและตรวจสอบสิทธิ ถือว่าไม่คุ้มค่า

นางสาวสุภัทรา กล่าวอีกว่า เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเดินหน้าจัดเก็บ 30 บาทแล้ว จึงเห็นชัดว่าเป็นการทำเพื่อดึงกระแสความนิยม 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลในอดีตกลับคืนมาเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าประสงค์อื่นใด และการเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากเดิมประกาศยกเว้นจัดเก็บ 30 บาท ใน 20  กลุ่ม เป็น 21 กลุ่ม โดยเพิ่มกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายด้วย และขณะนี้พวกเราอยู่ระหว่างการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ร่วมจ่าย 30 บาท พร้อมมีตัวแทนในจังหวัดต่างๆ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแสดงจุดยืนไปแล้ว

หมอชี้เพิ่มภาระงานมากขึ้น

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลพบว่าการจัดเก็บ 30 บาท ยังสร้างความยุ่งยากเพราะต้องมีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จัดทำเอกสารหลักฐาน รวมไปถึงการออกใบเสร็จต่างๆ ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 30 บาท อีกทั้งยังอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและผู้ป่วยในการตรวจสอบสิทธิเพื่อจัดเก็บ 30 บาท กลายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระบบบริการ

"ส่วนที่บอกว่าจะให้โรงพยาบาลขยายเวลาบริการไม่พักเที่ยง ต้องถามว่าโรงพยาบาลมีแพทย์กี่คน โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน หากให้ทำงานรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เชื่อว่าหมอคงลาออกหมด ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลชั่งน้ำหนักก่อน" นพ.อารักษ์ กล่าว  และว่า ส่วนที่มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมจ่ายนั้น มองว่าการร่วมจ่ายควรเป็นไปในรูปแบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายและเตรียมที่จะเดินหน้าเก็บ 30 บาทนั้น ทางโรงพยาบาลสิชลใช้วิธีในการตั้งตู้รับบริจาคแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตั้งตู้รับบริจาคเพื่อช่วยโรงพยาบาลอยู่แล้ว เพียงแต่จะติดป้ายให้ชัดเจนขึ้นว่าสำหรับการจ่าย 30 บาท

รามาฯ ประกาศไม่เก็บ 30 บาท

ขณะที่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี กล่าวว่า รพ.รามาธิบดีไม่ได้ต่อต้านนโยบายดังกล่าว ในการให้ประชาชนมีสิทธิร่วมจ่ายเงิน 30 บาท ในการรับการรักษาและรับยา แต่เพื่อเป็นการลดความยุ่งยากในการตรวจสอบสิทธิ ลดการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้จ่ายและผู้ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเว้น กับบุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย

" ที่ประชุมของรามาธิบดีจึงมีมติยกเว้นการจัดเก็บเงินดังกล่าวโดย รพ. ยอมขาดรายได้ และจะนำรายได้ส่วนอื่นมาทดแทน แม้ในแต่ละปีจะขาดทุนจากการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถึงปีละ 10 ล้านบาทจากการรักษาผู้มีสิทธิในระบบทั้งสิ้น จำนวน 37,000 คนก็ตาม" รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ เป็น รพ.ขนาดใหญ่ กำลังอยู่ระหว่างทำแนวปฏิบัติและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากไม่ทันก่อนวันที่ 1 กันยายน นี้ รพ.จุฬาฯ จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อนให้ได้มากที่สุด โดยจะยังไม่เก็บเงินดังกล่าว คือ อาจต้องชะลอการเก็บเงินไปก่อน เพื่อให้ระบบเข้าที่
ชี้เก็บ 30 บาท ไม่ขัดรธน.

ด้าน น.อ. (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ได้กำหนดให้ผู้ยากไร้มีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ชี้ให้เห็นว่าการจัดทำ รัฐสวัสดิการ "ฟรี" ก็เพื่อมุ่งไปยังกลุ่มคนที่มี "รายได้น้อย" ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการจัดเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงกำหนดให้ยกเว้นการจัดเก็บ 30 บาท ในคน 20 กลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลต้องมีหน้าที่หางบประมาณมาอุดหนุนเพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนที่มีการะบุว่างบประมาณที่ได้จากการจัดเก็บ 30 บาท ไม่มากเพียงพอที่จะช่วยอุดหนุนโรงพยาบาลได้นั้น น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร กล่าวว่า แต่ละวันมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ย 5 แสนครั้งต่อวัน ครึ่งหนึ่งเป็นคนมีฐานะพอจ่าย 30 บาทได้ ประมาณการจัดเก็บงบประมาณได้ราว 2 พันล้านบาทต่อปี  ส่วนการเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการจัดเก็บโดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุด  เฉพาะคนที่รับยา ที่ช่องรับยา ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลมีระบบการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลอยู่แล้ว จึงเพียงแต่ใส่ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปอีกหนึ่งรายการเท่านั้น

สพศท.เห็นด้วยกับร่วมจ่าย

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ในการจัดเก็บ 30 บาทรอบใหม่นี้ ทาง สปสช.ได้ทำการยกเว้นคน 20 กลุ่ม รวมถึงผู้ที่ไม่ประสงค์จะจ่าย 30 บาท ซึ่งในประเด็นนี้อยากเตือนไปยัง สปสช.ว่า นอกจากทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 51 ที่กำหนดให้ เฉพาะผู้ที่ยากไร้ ส่วนที่มีบางกลุ่มที่เตรียม ออกรณรงค์ให้ประชาชนไม่ร่วมจ่าย 30 บาท ผ่านทางเครือข่ายทั่วประเทศก็ถือว่าเป็นการละเมิดเช่นกัน

"หากมีการแจกใบปลิวเพื่อให้ประชาชนไม่ร่วมจ่าย จะเก็บข้อมูลหลักฐานให้ครบถ้วน เพื่อยื่นฟ้องต่อกลุ่มคนดังกล่าวฐานละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ"พญ.ประชุมพรกล่าว และว่าการเก็บ 30 บาท ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมจ่ายเพื่อนำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน

ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในกรณีที่โรงพยาบาลประกาศว่าจะไม่เก็บ 30 บาท นั้น ก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งนโยบายได้เปิดช่องไว้ให้ในกรณีที่ประชาชนไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายได้อยู่แล้ว โดยเรื่องนี้เป็นนโยบายเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพดำเนินไปอย่างดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง หรือต้องการจะสร้างแบรนด์แต่อย่างใด เพราะว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล และไม่ได้บังคับเพราะหากประชาชนไม่อยากจ่ายก็สามารถทำได้

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ก.ย. 2555