กรมบัญชีกลางดีเดย์ 1 ต.ค. เดินหน้ามาตรการ8 ขั้นคุมข้าราชการใช้ยาแพงกำหนดทุกโรงพยาบาลใช้ยาสามัญแทนยาต้นแบบ พร้อมยกเลิกเบิกจ่ายตรงยานอกบัญชี ซ้ำคุมเข้ม รพ.เป้าหมายเบิกค่ายาสูง หากต้องสั่งจ่ายยานอกบัญชี ต้องใส่ข้อบ่งชี้และเหตุผลการใช้ยาในเวชระเบียนเพื่อตรวจสอบได้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเรียกเก็บ 30 บาท 1 ก.ย.นี้
แม้กรมบัญชีกลางจะพยายามคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้ผลมากนัก วานนี้ (21 ส.ค.) จากการประชุมสัมมนา "หนึ่งทศวรรษการประกันคุณภาพยาสามัญ" จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นางอภิสมา ชาญสืบกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ทิศทางการกำกับดูแลการใช้ยาในระบบสาธารณสุขโดยในปีงบประมาณ 2553 สวัสดิการข้าราชการได้งบรักษาพยาบาลอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท แต่เพียงแค่เดือน ม.ค.ค่ารักษาพยาบาลถูกใช้ไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเห็นปัญหาจนมีมติ ครม.ให้ควบคุมค่าการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย
สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้ทำมาตรการควบคุมการจ่ายเงินพร้อมกับการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาล มีทั้งมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยในส่วนของการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาถือเป็นมาตรการเร่งด่วน เบื้องต้นได้มีการกำหนดเป้าหมายควบคุมการสั่งจ่ายยาในโรงพยาบาล 34 แห่ง และในปี 2554 ได้มีการประกาศยกเลิกการสั่งจ่ายยาข้อเข่าเสื่อม จากยาที่เตรียมกำหนดควบคุมการเบิกจ่าย 8 กลุ่มแต่เมื่อตรวจสอบค่าใช้จ่ายในภาพรวมค่ารักษายังลดลงไม่มากนัก
"มาตรการยกเลิกการใช้ยากูลโคซามีนเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม ที่ผ่านมามีกลุ่มแพทย์ฝ่ายวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการย้อนปรับประกาศใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 กำหนดให้แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยได้ไม่เกิน 6 สัปดาห์ แต่ที่ผ่านมา พบว่าแพทย์ส่วนใหญ่มีการสั่งเกินจากที่กำหนดทั้งนั้น ทั้งที่เป็นมาตรการที่ทางแพทย์กำหนดกันเอง ซึ่งเรื่องนี้ขอให้รออีกหน่อย ขณะนี้ กรมบัญชีกลางเตรียมที่จะเรียกเงินคืนในส่วนนี้" นางอภิสมากล่าว
คุม 8 ขั้นตอนใช้ยา ขรก.
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยา 8 ขั้นตอน ซึ่งมีการกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาสามัญแทนยาต้นแบบ เน้นสั่งจ่ายยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในกรณีของการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่เป็นยาควบคุมการเบิกจ่าย 9 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 2. กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 3. กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 4. กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5. กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6. กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด 7. กลุ่มยาป้องกันกระดูกพรุน 8. กลุ่มยารักษามะเร็ง และ 9. กลุ่มยารักษาข้อเข่าเสื่อม โรงพยาบาลที่เป็นเป้าหมายในการควบคุมมีทั้งหมด 169 แห่ง หากใช้ยาต้องส่งเหตุผลการใช้ยานี้ พร้อมจัดทำข้อบ่งชี้การใช้ยาชัดเจนเพื่อให้กรมบัญชีกลางทำการตรวจสอบได้ ส่วนในกลุ่มยาป้องกันกระดูกพรุนและยารักษามะเร็งจะต้องมีการขออนุญาตก่อนการใช้เพื่อประโยชน์ในการเบิกจ่าย พร้อมกันนี้ ยังจะมีการยกเลิกการเบิกจ่ายตรงในกลุ่มยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย "การดำเนินการตามแผนขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศเพื่อให้โรงพยาบาลรับทราบและเตรียมความพร้อม ซึ่งแต่เดิมจะประกาศใช้ได้ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากติดปัญหาการส่งหนังสือแจ้ง จึงคาดว่าจะประกาศได้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ในระหว่างนี้ยังได้เชิญโรงพยาบาลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการควบคุม 169 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลเดิมที่ประกาศ 34 แห่ง เพิ่มเติมรอบ 2 อีก 134 แห่ง และมีอีก 1 แห่งสมัครเข้าร่วม ในการส่งตัวแทนเข้ารับฟังการชี้แจงมาตรการ" นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กล่าวและว่า จากหนังสือสั่งการที่อยู่ในมือขณะนี้ กำหนดให้มีการระบุเหตุผลการสั่งจ่ายยา 9 กลุ่มในเวชระเบียน แต่เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยอีกครั้ง
จัดงบสวัสดิการ ขรก. 6 หมื่นล้าน
สำหรับงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการในปี 2555 ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 61,845 ล้านบาท แต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เบิกจ่ายไปแล้ว 50,905 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบประมาณ 2556 จะได้รับงบประมาณที่ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากในการพิจารณางบประมาณ มี ส.ส.เสนอให้ตัดงบรักษาพยาบาลในส่วนข้าราชการ เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินไปเยอะมาก
ภญ.เนตรนภิส สุขนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้กำหนดให้คงอัตราค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคงที่ในอัตรา 2,755 บาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2555-2557 ส่งผลให้ต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งยาเป็นหนึ่งในการควบคุม ที่ผ่านมา การสั่งจ่ายยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมักมีข้อกังวลในเรื่องคุณภาพยาที่ได้รับ เนื่องจากงบประมาณจำกัดที่ได้รับแต่ต้องดูแลคนถึงเกือบ 50 ล้านคน ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการ โดยมีการจัดตั้งกองทุนยาเพื่อดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยาและให้ได้ยาที่มีคุณภาพ พร้อมกันนี้ ยังช่วยให้เข้าถึงยาราคาแพงและเข้าถึงยากอย่างยาในบัญชี จ. 2
"จากผลการดำเนินการของกองทุนยา สปสช. ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2553-ส.ค. 2555 ได้มีการต่อรองราคายา 80 รายการ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาเป็นจำนวนกว่า 2,400 ล้านบาท" ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว
เรียกเก็บค่ารักษา 30 บาท 1 ก.ย.
ในวันเดียวกัน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการมอบนโยบายการร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศว่า 30 บาทยุคใหม่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น การเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่ายรับบริการที่ใดก็ได้ตามความจำเป็น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคน ทุกสิทธิรับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน การย้ายสิทธิหรือย้ายที่อยู่ได้รับการบริการดูแลต่อเนื่อง
แพทย์ห่วง 4 ประเด็นหลัก
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จากการรับฟังในที่ประชุม สรุปได้ว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เกรงปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ไม่อยากให้สร้างความคาดหวังให้กับประชาชนมากเกินไปว่าจะต้องได้รับบริการเช่นนั้นเช่นนี้หากร่วมจ่าย 2. เพิ่มขั้นตอนการให้บริการขึ้นอีก 3 ส่วน เริ่มจากพิจารณาว่าอยู่ในข่ายยกเว้นการร่วมจ่ายหรือไม่ ต้องให้ผู้ป่วยแสดงความจำนงจ่ายหรือไม่จ่ายและการออกใบเสร็จการร่วมจ่าย จะเป็นการสร้าง ความไม่ถึงพอให้กับประชาชนมากขึ้น 3. การบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งการทำงานของคนและค่าเอกสาร และ 4. ไม่เป็นการตอบสนองนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นการแบ่งคนจนหรือไม่จนออกจากกัน "เท่าที่ฟังจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลระดับจังหวัดหลายแห่งเชื่อว่าส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนโยบายต้องทำตามแต่ในทางปฏิบัติจะไม่ยึดติดกับรูปแบบการสั่งการจากส่วนกลางแต่จะดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง และส่วนตัวจากการพูดคุยกับเพื่อน ผอ.โรงพยาบาลระดับอำเภอส่วนใหญ่จะไม่เก็บ ไม่ทำ ไม่ประกาศ ยึดหลักไม่เก็บแต่ไม่ขัด ทำตามปกติเหมือนอย่างที่เคยทำมา เพราะการถามว่าประชาชนจะจ่ายหรือไม่จ่ายเป็นการสร้างความขัดแย้งโดยใช่เหตุ ที่สำคัญ มีคนบอกว่าไม่ต้องเรียกเก็บ 30 บาทจากชาวบ้านหรอก เพราะชาวบ้านบริจาคให้ รพ.มากกว่านี้เยอะ เพราะฉะนั้น รพ.แค่ตั้งตู้รับบริจาคแล้วมีคณะกรรมการกำกับดูแล" นพ.อารักษ์กล่าว
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 22 ส.ค.55
- 177 views